xs
xsm
sm
md
lg

ปัญหาคนกรุงฯ วาระแก้ฝุ่น PM 2.5 ถึงผู้ว่าฯ ชัชชาติ “กทม.สามารถทำให้เป็นต้นแบบได้”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เชื่อมั่นผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ แก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 พร้อมเสนอแนวทางทั้งระยะสั้นและระยะยาว


รายงานพิเศษ  

หลังคนกรุงเทพฯกว่า 1.38 ล้านเสียง ลงคะแนนเลือก “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนใหม่ ท่มกลางความหวังต่อวิสัยทัศน์ของเขาที่จะเข้ามาแก้ปัญหาหมักหมมต่างๆ ในกรุงเทพมหานครให้เบาบางลง และเปลี่ยนให้ กรุงเทพฯ กลับมาเป็นมหานครที่น่าอยู่อีกครั้ง

ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เป็นอีกหนึ่งปัญหา ที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสุขภาพของประชาชนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครมาต่อเนื่องเกือบ 10 ปีแล้ว แม้ว่าที่ผ่านมารัฐบาลจะประกาศให้การแก้ปัญหา PM 2.5 เป็นวาระแห่งชาติมาตั้งแต่ปี 2562 แต่ปัญหาก็ไม่ได้เบาบางลง

โจทย์ที่สำคัญ คือ ลำพังอำนาจของ ผู้ว่าฯ กทม. สามารถทำอะไรกับปัญหานี้ได้บ้าง นอกเหนือไปจาก การขอร้องให้ประชาชนลดการใช้รถยนต์ ฉีดพรมน้ำ หรือเพียงแค่ออกประกาศค่าฝุ่นละอองรายวัน

โดยล่าสุด “กรมควบคุมมลพิษ” ออกประกาศปรับค่ามาตรฐาน PM 2.5 ในประเทศไทย ให้เข้มงวดขึ้น จากเดิมต้องไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เป็นต้องไม่เกิน 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร รวมทั้งปรับค่าเฉลี่ยรายปีจากเดิมต้องไม่เกิน 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์ฌมตร เป็นต้องไม่เกิน 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยจะมีผลบังคับใช้ในอีก 1 ปีข้างหน้า คือวันที่ 1 มิถุนายน 2566

นั่นหมายความว่า หากคุณภาพอากาศในช่วงปลายปีถึงต้นปียังเป็นเช่นเดิม พื้นที่ที่เคยแสดงค่าคุณภาพอากาศเดิมจากสีเหลืองอาจจะกลายเป็นสีส้ม จากสีส้มอาจจะกลายเป็นสีแดง และจากสีแดงอาจจะกลายเป็นสีม่วง

“แน่นอนว่า PM 2.5 เป็นปัญหาระดับชาติ แต่ผมมองว่า ด้วยอำนาจของผู้ว่าฯ กทม. สามารถเริ่มดำเนินนโยบายหลายด้านให้เป็นต้นแบบ และจะช่วยเร่งรัดให้หน่วยงานอื่นๆมีแรงขับเคลื่อนต่อได้”


สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย ให้ความเห็นนี้ พร้อมส่งต่อข้อเสนอแนะไปยังผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่อย่างเป็นรูปธรรม เพราะเชื่อมั่นในความที่เป็นคนมีวิสัยทัศน์ที่จะสามารถนำไปปฏิบัติได้ โดยย้ำว่า ต้องเริ่มจากการประกาศให้ชัดว่า “อากาศสะอาด” เป็นนโยบายพื้นฐานของ กทม.

“เรารู้กันมาหลายปีแล้วว่าฝุ่น PM 2.5 จะมาในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงมีนาคมของทุกปี ดังนั้น ทาง กทม.สามารถเตรียมตัวได้ด้วยมาตรการหลายอย่าง โดยเริ่มจาก กทม.ต้องสร้างระบบฐานข้อมูลและมอบหน้าที่ให้หน่วยงานในสังกัดพยากรณ์และวิเคราะห์ค่าฝุ่นละอองล่วงหน้าเพื่อนำมากำหนดเป็นนโยบายและมาตรการที่มากกว่าแค่ฉีดพ่นละอองน้ำในช่วงที่ฝุ่นรุนแรงเท่านั้น เพราะข้อเสนอเชิงมาตรการและนโยบายที่จะเสนอไป กทม.อาจต้องเตรียมการทั้งการจัดหาพื้นที่รองรับและเตรียมงบประมาณไว้ด้วย เพื่อทำให้มาตรการเห็นผล” นายสนธิ กล่าว พร้อมนำเสนอแนวทางหลายข้อ


แนวทางระยะสั้น

แนวทางที่ 1 ... ก่อนถึงเดือนพฤศจิกายน ที่ฝุ่น ผู้ว่า กทม. สามารถสั่งการให้หน่วยงานของ กทม. หรือประสานไปยังตำรวจให้ “ตั้งด่านตรวจรถควันดำอย่างเข้มงวด” รวมทั้งรถโดยสารสาธารณะและรถยนต์ของทางราชการ ซึ่งจากข้อมูลในขณะนี้ มีผู้ใช้รถยนต์ใน กทม.รวมกว่า 11 ล้านคัน มีจำนวน 2.8 ล้านคันเป็นรถเครื่องยนต์ดีเซล และมีรถอีกกว่า 6 แสนคันจดทะเบียนใหม่ในปี 2564 กทม.สามารถใช้ข้อมูลนี้ เป็นฐานในการตรวจควันดำได้ โดยเฉพาะรถเครื่องยนต์ดีเซล

แนวทางที่ 2 ... ใน กทม.มีโรงงานทั้งหมดประมาณ 6,200 แห่ง เป็นโรงงานที่มีกำลังการผลิตมากกว่า 50 แรงม้าอยู่ 5545 แห่ง ซึ่งโรงงานกลุ่มนี้ มักใช้น้ำมันเตา น้ำมันดีเซล รวมทั้งถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง จึงเป็นเป้าหมายสำคัญที่ กทม.สามารถส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจวัดค่าฝุ่นละอองจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงที่ออกมาจากโรงงานได้ เพื่อควบคุมให้เป็นไปตามมาตรฐาน และควรใช้แนวทางเดียวกันนี้ไปตรวจสอบและวัดค่าฝุ่นละอองตามไซต์งานก่อสร้างๆต่างๆที่มีอยู่ทั่ว กทม.ด้วย เพราะส่วนใหญ่ ถูกละเลยมาตลอด ไม่มีผ้าใบคลุมด้วยซ้ำ


แนวทางที่ 3 ... “จอดแล้วจร” นี่เป็นแนวทางที่นายสนธิ ให้ความสำคัญมาก เพราะในช่วงที่ PM 2.5 จะมีค่าสูง (พ.ย.- มี.ค.) กทม.สามารถสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้บริการรถไฟฟ้าได้ แต่ต้องไม่ทำแบบที่ผ่านมา คือ ทำเพียงการเชิญชวนเท่านั้น จึงเสนอเป็น 2 แนวทางย่อย

3.1 ต้องจัดหาที่จอดรถให้ประชาชน เพื่อพักรถไว้พื้นที่รอบนอก และมีระบบฟีดเดอร์ โดยใช้รถสาธารณะรับส่งประชาชนจากที่จอดรถมาใช้บริการรถไฟฟ้าเพื่อเข้ามาทำงานในเขตเมืองชั้นใน โดยที่จอดรถดังกล่าวจะต้องให้บริการ “ฟรี” ซึ่งมีหลายพื้นที่ หลายอาคารที่สามารถทำเป็นที่จอดรถได้

3.2 นอกจาก “จอดรถฟรี” แล้ว กทม.ยังควรกันงบประมาณไว้สำหรับใช้เป็นเงินอุดหนุน “ค่าบริการรถไฟฟ้า” เพื่อให้ประชาชนจ่ายเงินในการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าได้ในราคา “ถูกลง” จึงจะเพิ่มแรงจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้บริการ

โดยย้ำว่า จะทำได้ ต้องมี “ที่จอดรถฟรี” เป็นสิ่งสำคัญที่สุด

แนวทางที่ 4 ... หากสามารถมีนโยบายที่จูงใจให้ประชาชนให้รถไฟฟ้าได้แล้ว ก็จะสามารถสร้างพื้นที่ใหม่ๆได้ เช่น ทำถนนคนเดินหลายจุดในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ โดยใช้รถไฟฟ้าและระบบฟีดเดอร์เป็นทางหลักในการขนส่งคน หรือหากพยากรณ์ได้ว่าจะมีค่าฝุ่นรุนแรงมากในช่วงเวลาใด สามารถใช้อำนาจผู้ว่าฯ ตาม พ.ร.บ.สาธารณสุข ออกประกาศห้ามรถยนต์เข้าเขตตัวเมืองชั้นในได้เช่นกัน

แนวทางที่ 5 ... เมื่อพยากรณ์ได้ว่าค่าฝุ่นละอองจะรุนแรง สามารถใช้อำนาจผู้ว่าฯ ประกาศห้ามรถบรรทุกเข้ามาในกรุงเทพมหานครได้ โดยการขนส่งสินค้า จะให้รถบรรทุกไปจอดที่ศูนย์ขนส่ง เช่นที่ นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง และเปลี่ยนเป็นรถสี่ล้อเข้ามาให้บริการขนส่งสินค้าแทน


แนวทางระยะยาว

เมื่อมองปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ในระยะยาว นายสนธิ ระบุว่า ปัจจุบัน กทม.มีจำนวนประชากรตามระบบทะเบียนราษฎร์อยู่ 5.7 ล้านคน แต่ในความเป็นจริง มีประชากรอาศัยอยู่ใน กทม.ถึงประมาณ 10 ล้านคน และส่วนใหญ่ไปกระจุกอยู่ที่กลางเมือง ด้วยเหตุผลว่ามีสถานที่ทำงานอยู่ในพื้นที่ชั้นในของเมือง ทำให้พื้นที่กลางเมืองอย่างเช่นในย่านสีลม บางรัก พญาไท ราชเทวี มีอาคารสูงตั้งแต่ 10 – 30 ชั้น อยู่รวมกันถึงประมาณ 2800 แห่ง และเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ปัญหาฝุ่นละอองรุนแรง ดังนั้น จึงเสนอให้ กทม.จัดทำสิ่งที่เรียกว่า “ผังเมืองบริวาร” โดยมีโครงข่ายรถไฟฟ้าที่กระจายการขนส่งคนออกไปนอกเมืองอยู่แล้วเป็นตัวบุกเบิก และออกมาตรการจูงใจให้บริษัท ห้างสรรพสินค้า ร้านค้าต่างๆ ไปเปิดให้บริการอยู่รอบนอก รวมทั้งต้องมีนโยบายซัพพอร์ตให้คนเข้าถึงที่อยู่อาศัย “นอกเมือง” ได้

การเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า เป็นอีกหนึ่งแนวทางระยะยาวที่นายสนธิ เห็นว่า กทม.สามารถเริ่มทำเป็นต้นแบบได้ตั้งแต่ช่วงนี้ โดยเฉพาะตัวผู้ว่าฯ กทม.เอง เพราะ “นายชัชชาติ” เป็นคนที่มักจะเดินทางด้วยรถจักรยานอยู่แล้ว ดังนั้นหาก กทม.สามารถเร่งติดตั้งจุดให้บริการเพื่อ “ชาร์ตไฟ” ให้กับรถยนต์ไฟฟ้าได้อย่างทั่วถึง สนับสนุนบ้านเรือนรวมทั้งคอนโดมีเนียมต่างๆให้เปลี่ยนระบบไฟได้ในราคาถูก ให้ติดตั้งจุด “ชาร์ตไฟ” ได้ ก็จะทำให้ประชาชนตัดสินใจเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ซึ่งตัว ผู้ว่าฯ กทม.เอง และส่วนราชการ สามารถเริ่มเปลี่ยนก่อนเป็นตัวอย่างได้เลย

นายสนธิกล่าวสรุปว่า การแก้ปัญหา PM 2.5 ที่ผ่านมา แม้ว่ารัฐบาลจะประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติ และมีมติ ครม.เมื่อ 1 ตุลาคม 2562 แต่กลับไม่เคยมีหน่วยงานใดรับบทบาทเป็นเจ้าภาพที่ชัดเจนเลย เพราะแม้แต่กรมควบคุมมลพิษ ก็ไม่มีอำนาจสั่งการใดๆ ทำได้เพียงการเป็นหน่วยงานที่คอยตรวจวัดและรายงานคุณภาพอากาศเท่านั้น จึงเห็นว่า ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนใหม่ สามารถใช้โอกาสนี้ ในการออกนโยบายและดำเนินการมาตรการต่างๆเพื่อให้เป็นต้นแบบกับหน่วยงานอื่นๆได้

“ผมเชื่อว่า ผู้ว่าฯ กทม.มีอำนาจทำได้หมด สามารถเป็นต้นแบบเพื่อกระตุ้นหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องได้ด้วย และเชื่อว่า ผู้ว่าฯ ชัชชาติ มีบุคลิกให้ความสนใจปัญหามลพิษอยู่แล้ว จะสามารถทำเป็นแบบอย่างให้ประชาชนเห็นได้ มาตรการต่างๆ ก็จะได้รับความร่วมมือจากคนที่อยู่อาศัยใน กทม.” นายสนธิ กล่าวทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น