xs
xsm
sm
md
lg

รอดู! ยุโรปเอาจริง คาดไม่กี่วันเห็นพ้องคว่ำบาตรห้ามนำเข้าน้ำมันรัสเซีย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



สหภาพยุโรปดูเหมือนว่าจะเห็นพ้องต้องกันในการกำหนดมาตรการห้ามนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย "ภายในไม่กี่วันข้างหน้า" จากคำกล่าวอ้างของเยอรมนี สมาชิกรายใหญ่ที่สุดของอียู ในขณะที่มอสโกระบุว่า ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับจีนเติบโตขึ้นเรื่อยๆ หลังจากพวกเขาถูกตะวันตกคว่ำบาตรต่อกรณีรุกรานยูเครน

ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน เรียกร้องบรรดาผู้นำธุรกิจจากทั่วโลก ในเวทีสัมมนาทางเศรษฐกิจประจำปี "เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม" ที่เมืองดาวอส ว่า โลกต้องยกระดับคว่ำบาตรรัสเซีย เพื่อป้องปรามประเทศอื่นจากการใช้ "กำลังอันโหดร้าย" สำหรับบรรลุเป้าหมายต่างๆ ของพวกเขา

หลายชาติใน 27 รัฐสมาชิกของอียู ต้องพึ่งพิงพลังงานรัสเซียเป็นอย่างมาก โหมกระพือเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากเคียฟว่าสหภาพยุโรป เคลื่อนไหวไม่รวดเร็วมากพอในการระงับอุปทานพลังงานจากรัสเซีย

ฮังการี เน้นย้ำข้อเรียกร้องของพวกเขาในวันจันทร์ (23 พ.ค.) ที่ขอเงินลงทุนทางพลังงาน ก่อนยินยอมเห็นพ้องคว่ำบาตรห้ามนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย เผชิญหน้ากับรัฐอื่นๆ ของอียู ที่พยายามผลักดันให้ดำเนินการเห็นชอบอย่างรวดเร็ว

อียู เสนอเงินชดเชยสูงสุด 2,000 ล้านยูโร แก่ประเทศยุโรปตอนกลางและยุโรปตะวันออก ที่ขาดแคลนอุปทานนอกรัสเซีย

"เราจะผ่านทางตันได้ภายในไม่กี่วันข้างหน้า" โรเบิร์ต ฮาเบค รัฐมนตรีเศรษฐกิจเยอรมนี ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ท้องถิ่น พร้อมเผยว่า คณะกรรมาธิการยุโรปและสหรัฐฯ กำลังทำงานคู่ขนานเกี่ยวกับข้อเสนอหนึ่ง เพื่อจำกัดเพดานราคาน้ำมันโลก "แน่นอนว่ามันเป็นมาตรการที่ไม่ปกติ แต่มันเป็นช่วงเวลาที่ไม่ปกติ"

การรุกรานยูเครนของรัสเซียที่ยืดเยื้อมานานกว่า 3 เดือน ถือเป็นการโจมตีรัฐหนึ่งของยุโรปครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 1945 ส่งผลให้ประชาชนต้องอพยพหลบหนีไปต่างแดนมากกว่า 6.5 ล้านคน และเปลี่ยนเมืองทั้งเมืองเป็นซากปรักหักพัง และกระตุ้นให้ตะวันตกกำหนดมาตรการคว่ำบาตรเล่นงานรัสเซีย หนักหน่วงอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

เซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศของรัสเซีย ระบุว่า เครมลินจะมุ่งเน้นพัฒนาความสัมพันธ์กับจีน ในขณะที่ความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจกับสหรัฐฯ และยุโรปถูกตัดขาด

"ถ้าพวกเขา (ตะวันตก) ต้องการเสนอบางอย่างในแง่ของการคืนสัมพันธ์ เมื่อนั้นเราจะพิจารณาอย่างจริงจังว่าเราจะต้องการมันหรือไม่" เขากล่าว "ในเวลานี้ที่ตะวันตกใช้จุดยืนเผด็จการ ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของเรากับจีนจะเติบโตรวดเร็วยิ่งขึ้น"

ความคิดเห็นดังกล่าวมีขึ้นระหว่างที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน กำลังเดินทางเยือนเอเชีย และกล่าวขณะอยู่ในญี่ปุ่น ว่าเขาพร้อมที่จะใช้กำลังปกป้องไต้หวันจากการรุกรานของจีน

คำพูดของ ไบเดน ถือเป็นถ้อยคำที่แข็งกร้าวที่สุดเท่าที่เคยใช้มาของเขา ในประเด็นไต้หวัน และมีขึ้นท่ามกลางความตึงเครียดที่หนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ เกี่ยวกับการเติบโตของจีนทั้งในด้านเศรษฐกิจและแสนยานุภาพด้านการทหาร

(ที่มา : รอยเตอร์)
กำลังโหลดความคิดเห็น