xs
xsm
sm
md
lg

จีนไม่แฮปปี้! ‘ไบเดน’ ประกาศกร้าวที่โตเกียว พร้อม ‘ใช้กำลัง’ ปกป้องไต้หวันหากถูกจีนรุกราน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ประกาศระหว่างเยือนกรุงโตเกียวของญี่ปุ่นวันนี้ (23 พ.ค.) ว่า วอชิงตันพร้อมที่จะใช้กำลังปกป้องไต้หวันหากถูกจีนรุกราน ขณะที่ผู้ช่วยทำเนียบขาวออกมายืนยันว่า นโยบายที่สหรัฐฯ มีต่อไทเปยังเหมือนเดิมทุกประการ

คำพูดของ ไบเดน ระหว่างเปิดแถลงข่าวร่วมกับนายกรัฐมนตรี ฟูมิโอะ คิชิดะ แห่งญี่ปุ่น ณ เรือนรับรองในพระราชวังอาซากุสะ ดูจะขัดแย้งกับนโยบายความกำกวมทางยุทธศาสตร์ (strategic ambiguity) ซึ่งเป็นรากฐานความสัมพันธ์สหรัฐฯ-ไต้หวันมาอย่างยาวนาน

รัฐบาลปักกิ่งถือว่าเกาะไต้หวันซึ่งปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยยังคงเป็น “มณฑล” หนึ่งของจีนตามหลักการจีนเดียว (one China) และเตือนว่าเรื่องนี้คือประเด็นละเอียดอ่อนและสำคัญที่สุดในความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ

ผู้สื่อข่าวคนหนึ่งได้ตั้งคำถามกับ ไบเดน ว่าสหรัฐฯ จะให้การปกป้องไต้หวันหรือมีการโจมตีเกิดขึ้น? ซึ่งผู้นำสหรัฐฯ ก็ตอบว่า “ใช่”

“นั่นคือสิ่งที่เราได้รับปากไว้” ไบเดน ระบุ “สหรัฐฯ ให้การยอมรับนโยบายจีนเดียว (one-China policy) เราได้ลงนามรับรองมันและข้อตกลงอื่นๆ ที่เป็นผลสืบเนื่อง ทว่าแนวคิดในการใช้กำลังเข้ายึดครอง... มันไม่ใช่เรื่องที่เหมาะสม”

ผู้นำสหรัฐฯ ย้ำว่า ตนคาดหวังว่าคงจะไม่เกิดเหตุการณ์ลักษณะดังกล่าว หรือมีความพยายามใดๆ ที่จะทำเช่นนั้น

ภายหลังจากที่ ไบเดน แถลง เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวก็ออกมาชี้แจงทันควันว่า นโยบายที่อเมริกามีต่อไต้หวัน "ยังไม่เปลี่ยนแปลง"

รายงานระบุว่า บรรดาที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของสหรัฐฯ ออกอาการ “กระสับกระส่าย” และเอียงคอฟังอย่างตั้งใจว่า ไบเดน จะพูดอะไรบ้างเกี่ยวกับไต้หวัน หลายคนก้มหน้ามองพื้นในขณะที่ผู้นำสหรัฐฯ รับปากจะปกป้องไต้หวันแบบไม่ “แทงกั๊ก” อย่างที่ควรจะเป็น


ไบเดน เคยออกมาพูดทำนองนี้ครั้งหนึ่งเมื่อเดือน ต.ค.ปีที่แล้ว ซึ่งตอนนั้นโฆษกทำเนียบขาวก็ออกมาชี้แจงตามเคยว่าสหรัฐฯ ไมได้เปลี่ยนแปลงนโยบายต่อไต้หวัน ขณะที่นักวิเคราะห์คนหนึ่งชี้ว่าสิ่งที่ ไบเดน พูดออกไปเป็นแค่การ “พลั้งปาก”

สหรัฐฯ ยอมรับว่าจีนมีเพียงหนึ่งเดียว ซึ่งรวมไต้หวันด้วย ขณะเดียวกันก็ใช้นโยบายกำกวมมาตลอดเมื่อพูดถึงการเผชิญหน้าทางทหารกับจีนเพื่อปกป้องไต้หวัน

ไบเดน วิจารณ์ท่าทีก้าวร้าวของจีนในภูมิภาค และบอกว่าต้องการเห็นประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย “ชดใช้ด้วยราคาแพง” ให้กับการส่งทหารบุกยูเครน ส่วนหนึ่งก็เพื่อเป็นสัญญาณเตือนจีนว่าจะต้องเผชิญผลลัพธ์อย่างไรบ้างหากคิดรุกรานไต้หวัน

เป้าหมายสำคัญอย่างหนึ่งในการเยือนญี่ปุ่นของ ไบเดน ก็คือการผลักดันกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework - IPEF) ซึ่งเป็นแผนกว้างๆ ที่สหรัฐฯ หวังจะให้เป็นเสาหลักด้านนโยบายเศรษฐกิจกับทวีปเอเชีย นอกจากนี้ ยังมีการหารือร่วมกับผู้นำกลุ่ม “Quad” ซึ่งประกอบด้วยญี่ปุ่น อินเดีย และออสเตรเลีย

ที่มา : รอยเตอร์
กำลังโหลดความคิดเห็น