xs
xsm
sm
md
lg

เซ็นแล้ว! ซื้อระบบไฮสปีด “ไทย-จีน” 5 หมื่นล้าน ดันเปิดหวูดปี 68-รฟท.จ่อเซ็นรับเหมา 5 สัญญากว่า 4 หมื่นล้านใน พ.ย.นี้

เผยแพร่:



“นายกฯ” ประธานลงนามรถไฟไทย-จีน สัญญา 2.3 วงเงิน 5.06 หมื่นล้าน คาดออก NTP เริ่มออกแบบระบบและขบวนรถไฟได้ในปีนี้ “ศักดิ์สยาม” ยันเป้าเปิดปี 68 ชี้ EIA ผ่านหมดปัญหาใหญ่แล้ว สั่ง รฟท.สปีดงานก่อสร้าง เผย พ.ย.เตรียมเซ็นรับเหมา 5 สัญญา วงเงินรวมกว่า 4 หมื่นล้าน 

วันที่ 28 ต.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีลงนามในสัญญาจ้างงานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและจัดฝึกอบรมบุคลากร (สัญญา 2.3) ของโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา) วงเงิน 50,633.5 ล้านบาท ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) โดยนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าฯ รฟท. กับ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ อินเตอร์แนชันนัล (CHINA RAILWAY INTERNATIONAL CO., LTD.) โดย Mr.Gao Feng (เกา เฟิง) ประธานรัฐวิสาหกิจ และ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ ดีไซน์ คอร์เปอเรชัน (CHINA RAILWAY DESIGN CORPORATION) โดย Mr. Ma Shengshuang (หม่าเซิ่งซวง)

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมและขนส่งของประเทศ โดยมีกำหนดไว้ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี ซึ่งโครงการรถไฟความเร็วสูงจะเป็นทางเลือกในการเดินทางที่สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย และเป็นเครื่องมือในการพัฒนาประเทศ พัฒนาภูมิภาค ตามหัวเมืองหลักของแนวเส้นทางรถไฟความเร็วสูง ซึ่งจะเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และยังเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ในการเชื่อมไทยไปสู่ สปป.ลาว และจีน ในเส้นทางสายไหมยุคใหม่ที่เรียกว่า Belt and Road Initiative หรือ BRI

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า รฟท.กับรัฐวิสาหกิจของจีนลงนามสัญญา 2.3 ในลักษณะ G to G โดยมีขอบเขตงาน ได้แก่ งานวางระบบราง ระยะทาง 253 กม. งานระบบรถไฟความเร็วสูง ระบบไฟฟ้า ระบบอาณัติสัญญาณ ระบบสื่อสาร งานจัดหาขบวนรถไฟ งานฝึกอบรมบุคลากรเพื่อการเดินรถและซ่อมบำรุง และงานถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยหลังจากนี้ รฟท.และจีนจะหารือในกรอบการทำงานเพื่อวางแผนในการส่งมอบพื้นที่และออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (Notice to Proceed : NTP)

“ขณะนี้งานโยธาที่มีจำนวน 14 สัญญายังค่อนข้างล่าช้า ให้ รฟท.ไปเร่งรัด เนื่องจากปัญหาข้อขัดข้องเรื่อง EIA เรื่องแบบสถานีอยุธยาได้ข้อยุติแล้ว ถือว่าไม่มีปัญหาอุปสรรคใหญ่แล้ว”

@ชง ครม.ตั้งสถาบันระบบราง ต่อยอดผลิตและใช้วัสดุภายใน ปท.

นอกจากนี้ จะมีการจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้เสนอไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว คาดว่าจะมีการพิจารณาในช่วงกลางเดือน พ.ย. ซึ่งมีเป้าหมายเป็นสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบรางทั้งหมดของประเทศไทย เพื่อให้ไทยมีผู้เชี่ยวชาญระบบรางมากขึ้น มีองค์ความรู้เพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดไปสู่การออกแบบ ผลิตชิ้นส่วน ประกอบ และซ่อมบำรุงระบบราง เกิดงานวิจัยนวัตกรรม เทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมระบบรางของไทยเทียบเท่า มาตรฐานระดับสากล และมีการใช้วัสดุภายในประเทศในอุตสาหกรรมระบบรางไทย เป้าหมายเป็นมูลค่าเพิ่มในประเทศ 21,600 ล้านบาท เกิดการจ้างงานกว่า 6,000 ล้านบาทต่อปี

@คาดออก NTP เริ่มออกแบบระบบและขบวนรถไฟในปีนี้

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าฯ รฟท. กล่าวว่า ตามสัญญา 2.3 จะแบ่งงานออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ 1. งานออกแบบระบบทั้งหมดและขบวนรถไฟ วงเงินประมาณ 700-800 ล้านบาท ซึ่งจะมีการเจรจาและแจ้งให้จีนทราบล่วงหน้า 56 วันก่อนออก NTP คาดว่าจะสามารถออก NTP ให้จีนได้ภายในปี 2563 ใช้ระยะเวลาในการออกแบบ 10-12 เดือน

2. งานติดตั้ง วงเงินกว่า 40,000 ล้านบาท จะเริ่มหลังจากงานออกแบบเสร็จ และงานโยธามีความคืบหน้าสามารถส่งมอบพื้นที่ให้เข้าวางราง และติดตั้งระบบไฟฟ้า, อาณัติสัญญาณ, ระบบสื่อสารได้ รวมถึงการผลิตขบวนรถไฟ ซึ่งคาดว่าจะออก NTP ได้ช่วงปี 2564

และ 3. งานฝึกอบรม วงเงินประมาณ 1,000 ล้านบาท ซึ่งมีการจัดตั้งองค์กร บริหารรถไฟความเร็วสูงด้วย คาดว่าจะออก NTP หลังจากนี้ 1-2 ปี

@เร่งเซ็นรับเหมา 5 สัญญา วงเงินรวม 40,275.33 ล้านบาทใน พ.ย.นี้

ส่วนงานโยธา ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา จำนวน 14 สัญญา กรอบวงเงิน 117,914.08 ล้านบาทนั้น ปัจจุบันก่อสร้างเสร็จแล้ว 1 สัญญา คือ สัญญา 1-1 ช่วงกลางดง-ปางอโศก อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 1 สัญญา คือสัญญา 2-1 ช่วงสีคิ้ว-กุดจิก

ประกวดราคาเสร็จแล้วและเตรียมลงนามในเดือน พ.ย. จำนวน 5 สัญญา วงเงินรวม 40,275.33 ล้านบาท ได้แก่ สัญญา 3-2 ช่วงงานอุโมงค์มวกเหล็กและลำตะคอง ระยะทาง 12.23 กม. วงเงิน 4,279.33 ล้านบาท สัญญา 3-3 ช่วงบันไดม้า-ลำตะคอง ระยะทาง 21.60 กม. วงเงิน 9,838 ล้านบาท สัญญา 3-4 ช่วงลำตะคอง-สีคิ้ว และช่วงกุดจิก-โคกกรวด ระยะทาง 37.45 กม. วงเงิน 9,848 ล้านบาท สัญญา 3-5 ช่วงโคกกรวด-นครราชสีมา ระยะทาง 12.38 กม. วงเงิน 7,750 ล้านบาท และสัญญา 4-7 ช่วงสระบุรี -แก่งคอย ระยะทาง 12.99 กม. วงเงิน 8,560 ล้านบาท

ส่วนอีก 7 สัญญา แบ่งเป็น สัญญาที่ 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 15.21 กม. รอความชัดเจนเนื่องจากโครงสร้างทับซ้อนกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ส่วนสัญญาที่ 3-1 ช่วงแก่งคอย-กลางดง และช่วงปางอโศก-บันไดม้า ระยะทาง 30.21 กม. อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาผลประมูล

อีก 5 สัญญา แนวเส้นทางอยู่ในช่วงบางซื่อ-บ้านภาชี ซึ่งจะมีประเด็นสถานีอยุธยา โดยล่าสุดได้ข้อยุติใช้แบบเดิม ซึ่ง EIA เคยได้รับอนุมัติแล้ว แต่ทั้งนี้จะต้องศึกษาประเด็นมรดกโลกเพิ่มเติม ใช้เวลาศึกษาประมาณ 3-4 เดือน จากนั้นจะเสนอ EIA อีกครั้ง จากนั้นจะมีการลงนามสัญญากับผู้รับจ้างต่อไป

สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพมหานคร-หนองคาย แบ่งการดำเนินงานเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา มีแนวเส้นทางโครงการผ่าน 5 จังหวัด มี 6 สถานี คือ สถานีกลางบางซื่อ ผ่านสถานีดอนเมือง สถานีอยุธยา สถานีสระบุรี สถานีปากช่อง และสถานีนครราชสีมา ซึ่ง 4 สถานีหลังเป็นสถานีรถไฟความเร็วสูงที่ก่อสร้างใหม่ในโครงการนี้ รวมระยะทาง 253 กิโลเมตร วงเงินรวมของโครงการ 179,412.21 ล้านบาท โดยฝ่ายไทยรับภาระการลงทุนโครงการทั้งหมด และดำเนินการก่อสร้างงานโยธา ส่วนฝ่ายจีนรับผิดชอบออกแบบและติดตั้งงานระบบราง ระบบไฟฟ้าเครื่องกล ระบบควบคุมการเดินรถ จัดหาขบวนรถไฟความเร็วสูง และฝึกอบรมบุคลากร

และระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 354.5 กิโลเมตร เชื่อมไทย-ลาว-จีน อยู่ระหว่างการออกแบบรายละเอียดโดยฝ่ายไทยทั้งหมด ทั้งนี้ โครงการระยะที่ 1 รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติแล้วเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2560 และ 30 พฤศจิกายน 2560 ส่วนรายละเอียดที่เปลี่ยนแปลงได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา








กำลังโหลดความคิดเห็น