xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤตไต้หวัน 2.0 มาแล้ว!! สหรัฐฯ จ่อ “ซ้อมรบ” ร่วมอินเดียในเขตเทือกเขาหิมาลัยใกล้พรมแดนจีนกลางตุลาคม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



เอเจนซีส์/MGRออนไลน์ - สหรัฐฯ และอินเดียประกาศฝึกซ้อมรบร่วมกันในปฏิบัติการ “ยุดห์ อับยาส” (Yudh Abhyas) หรือ การสงครามปฏิบัติ ตั้งแต่วันที่ 18 ต.ค.ไปจนถึงสิ้นเดือน ฮือฮาโลเกชันการฝึกปีนี้ที่เมืองอูลี (Auli) รัฐอุตตราขัณฑ์ (Uttarakhand) ในเขตเทือกเขาหิมาลัยใกล้พรมแดนจีน การฝึกซ้อมตั้งเป้าเกิดขึ้นในเขตสภาพอากาศหนาวบนพื้นที่สูงชัน อาจกลายเป็นวิกฤตไต้หวัน 2.0 ในความขัดแย้งพรมแดนพิพาทหิมาลัยระหว่างนิวเดลี-ปักกิ่ง ที่ยังคงมีต่อเนื่อง

นิเคอิ เอเชีย ของญี่ปุ่นรายงานวันพุธ (10 ส.ค.) ว่า เป็นความเคลื่อนไหวที่เชื่อว่าจะต้องเรียกความสนใจจากบรรดานักวางแผนสงครามในกรุงปักกิ่ง หลังการเผชิญหน้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนในการเดินทางมาเยือนไต้หวันอย่างเป็นทางการของประธานรัฐสภาสหรัฐฯ แนนซี เพโลซี ต้นเดือนนี้

กองกำลังแปซิฟิกสหรัฐฯ USARPAC ยืนยันกับนิเคอิ เอเชียถึงการฝึกซ้อมรบร่วมระหว่างสหรัฐฯ-อินเดีย ที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 18 ต.ค.- วันที่ 31 ต.ค.นี้

ขณะที่การซ้อมรบร่วมภายใต้ชื่อปฏิบัติการ “ยุดห์ อับยาส” (Yudh Abhyas) ที่มีความหมายว่า “การสงครามปฏิบัติ” นั้นไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ โลเกชัน ที่ตั้งของจุดฝึกซ้อมในปีนี้ รวมไปถึงธรรมชาติและเงื่อนเวลาทั้งหมดล้วนมีความสำคัญทางภูมิศาสตร์การเมือง

พ.ต.โจนาธาน ลูว์อิซ (Jonathan Lewis) โฆษก USARPAC ให้สัมภาษณ์ว่า เป้าหมายการฝึกซ้อมรบร่วมประจำปีในปีนี้จะเป็นปฏิบัติการรบภายใต้สภาพอากาศหนาวและในระดับพื้นที่สูง เป็นสภาพแวดล้อมที่ถือว่ามีความท้าทายมาก

ฮินดูสถาน สื่ออินเดียรายงานว่า การฝึกซ้อมรบจะเกิดขึ้นในระดับความสูงกว่า 10,000 ฟุตที่เมืองอูลี ซึ่งขึ้นชื่อในเรื่องรีสอร์ตสกีหิมาลัยและยังห่างไปราว 95 กิโลเมตรจากเส้นควบคุม LAC (Line of Actual Control) ที่ถูกใช้เป็นเส้นแบ่งพรมแดนระหว่างอินเดียและจีน

หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญที่ได้ให้ความเห็นกับสื่อญี่ปุ่นคือ ศาสตราจารย์ด้านการศึกษายุทธศาสตร์และการป้องกันประเทศ พันกาจ จฮา (Pankaj Jha) ประจำมหาวิทยาลัย O.P. Jindal Global University กล่าวว่า ปักกิ่งจะต้องสนใจเป็นเพราะในการซ้อมรบครั้งนี้สหรัฐฯ อาจพยายามที่จะแสดงว่า พวกเขากำลังมองไปที่อีกหนึ่งแนวรบในการโจมตีจีน หากว่ามีการกดดันไต้หวันเพิ่มมากขึ้น

เขาชี้ว่า นอกเหนือไปจากการซ้อมรบ “มีสหรัฐฯ เข้ามาเกี่ยวข้อง (ในการฝึกซ้อม) นั้นสมควรเป็นประเด็นที่ปักกิ่งต้องให้ความสนใจ”

ผู้เชี่ยวชาญยังชี้ไปถึงเงื่อนเวลาที่เดือนตุลาคมจะเป็นช่วงเวลาก่อนที่ประธานาธิบดีจีน สี จิ้นผิง จะเข้าร่วมการประชุมสมัชชาใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน (Chinese Communist Party National Congress) ที่เขาถูกคาดการณ์อย่างกว้างขวางว่าจะดำรงตำแหน่งต่อในสมัยที่ 3 ในฐานะเลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน CCP ซึ่งการฝึกซ้อมรบร่วมของสหรัฐฯ-อินเดียเกิดในช่วงเวลาที่อ่อนไหวทางการเมืองของสี และไม่ห่างจากการเยือนไต้หวันเพโลซี

นิเคอิ เอเชียชี้ว่า ผู้เชี่ยวชาญต่างแสดงความเห็นตรงกันว่า นิวเดลีมีส่วนในการทำให้สีมีความขัดเคืองน้อยลงในเรื่องสถานที่ เป็นเพราะหากการซ้อมรบปฏิบัติการยุดห์ อับยาสเกิดขึ้นที่ลาดักห์ (Ladakh) หรือในรัฐอรุณาจัลประเทศ (Arunachal Pradesh) จะยิ่งสร้างความไม่พอใจให้ปักกิ่งมากขึ้น

โฆษกกองกำลังแปซิฟิกของสหรัฐฯ USARPAC เปิดเผยว่า การซ้อมรบประกอบไปด้วยการฝึกซ้อมการสั่งการและการฝึกซ้อมภาคสนามที่จะเกี่ยวข้องกับการฝึกฝนในทักษะที่สำคัญและการต่อสู้

พ.ต.ลูว์อิซ แถลงว่า สถานที่การซ้อมรบมีความสำคัญเพราะเป็นการเลือกเพื่อการซ้อมรบแบบเสมือนจริงสำหรับพื้นที่ในสภาพอัลติจูดสูง เพื่อความแข็งแกร่ง และความพร้อมทางการทหารและความเป็นพันธมิตรระหว่าง 2 ชาติ
กำลังโหลดความคิดเห็น