xs
xsm
sm
md
lg

สูตรเลือกตั้งยังอึมครึม จับตาปลุกผี “บัตรใบเดียว” การเมืองภาคพิสดารของไทยแลนด์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - การเมืองไทยยุคนี้ อะไรที่ไม่เคยเห็นก็จะได้เห็น

เมื่อเกิดปรากฎการณ์ขึ้นมา 2 พรรคแกนนำจากรัฐบาล-ฝ่ายค้าน “พลังประชารัฐ-เพื่อไทย” รวมกับ ส.ว.บางส่วน ที่เดิมผีไม่เผา เงาไม่เหยียบ กลับ “รวมกันเฉพาะกิจ” ดึงเกม-เตะถ่วง จนทำท่าการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่…) พ.ศ. … หรือกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง จะพิจารณาไม่แล้วเสร็จทันตาม “เดดไลน์” ภายในวันที่ 15 ส.ค.นี้

ด้วยมีหมุดหมายตรงกันในการคว่ำสูตรเลือกตั้ง “หาร 500” ที่ค้างอยู่ในวาระของที่ประชุมรัฐสภา

ทั้ง 2 พรรคเล่นเกมการเมืองแบบโต้งๆ ไม่มีอีแอบ ประกาศว่า จะโดดประชุมรัฐสภา เมื่อวันที่ 10 ส.ค.65 ซึ่งเดิมเป็นวันสุดท้ายของการประชุมรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. โดยอ้างว่า ส.ส.บางส่วน ติดงานวันกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ เพื่อให้ “สภาล่ม” ไม่ได้พิจารณาร่างกฎหมายลูกดังกล่าว

และพอถึงวันประชุม 10 ส.ค. เหตุ “สภาล่ม” ก็เป็นจริงตามคาด ตั้งแต่เปิดประชุมมีสมาชิกรัฐสภา ทั้ง ส.ส.-ส.ว.เข้าร่วมประชุมอย่างบางตา กว่าจะลงชื่อครบองค์ประชุมกึ่งหนึ่งของทั้งหมด 727 คน ก็ทำให้การประชุมล่าช้าไปเกือบชั่วโมง แลพการประชุมเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ..... ที่ค้างอยู่ก็เป็นไปอย่างกระท่อนกระแท่น องค์ประชุมฉิวเฉียดจะไม่ครบอยู่ตลอดเวลา แต่ก็สามารถลงมติผ่านไปได้

ก่อนจะเข้าสู่วาระพิจารณาร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งก็เป็น “ค่ายดูไบ” ที่เปิดเกมทันที เมื่อ “หมอชลน่าน” นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เสนอญัตติขอนับองค์ประชุมก่อนเข้าระเบียบวาระ แต่ถูกสกัดโดย พรรคร่วมรัฐบาลอย่าง “ค่ายสะตอ” พรรคประชาธิปัตย์ ที่ไม่เห็นด้วย ซึ่งก็นำไปสู่การนับองค์ประชุม และลงมติ ปรากฎว่า ที่ประชุมได้ลงมติไม่เห็นชอบที่จะดำเนินการตามญัตติของ “หมอชลน่าน” ด้วยคะแนน 283 ต่อ 27 งดออกเสียง 36 ไม่ออกเสียง 28 เสียง

ทว่าเมื่ออภิปรายไประยะหนึ่งแล้วต้องมีการลงมติ พรเพชร วิชิตชลชัย กดออดเรียกสมาชิกรัฐสภามาแสดงตน โดยใช้เวลาร่วม 15 นาที ผลการแสดงตนมีสมาชิกแสดงตน 367 เสียง เกินกึ่งหนึ่งเพียง 3 เสียง ถือว่ามีองค์ประชุมครบอย่างหวุดหวิด

แต่ก็เป็น “เสี่ยหนิม” จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่ขอใช้สิทธิคัดค้าน ระบุว่าเกรงจะมีการเสียบบัตรแทนกัน จึงขอให้ใช้วิธีแสดงตนโดยการขานชื่อรายบุคคล

หลังใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมงในการขานชื่อแสดงตน ปรากฎว่ามีองค์ประชุมมีผู้แสดงตน 403 คน ถือว่าครบองค์ประชุม แต่พอถึงช่วงให้สมาชิกเสียบบัตรเพื่อลงมติ ปรากฎว่า มีผู้แสดงตนไม่ครบ ทำให้ประธานในที่ประชุมต้องปิดประชุมทันที โดยมีรายงานว่า มีผู้กดแสดงตนเพียง 344 คน จากจำนวนกึ่งหนึ่งของที่ประชุมคือ 364 คน ขาดไปถึง 22 เสียง

ณ วันนั้นเท่ากับว่า ร่างกฎหมายลูกพิจารณาไม่เสร็จภายในกำหนด 180 วันตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด เพราะขณะนั้นยังไม่มีการกำหนดวันประชุมร่วมรัฐสภาก่อนวันที่ 15 ส.ค.แต่อย่างใด

ก่อนที่ ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา จะสั่งให้นัดประชุมร่วมรัฐสภาอีกครั้งในวันที่ 15 ส.ค.นี้ เพื่อพิจารณาร่างกฎหมายลูกเลือกตั้ง ถือเป็น “เฮือกสุดท้าย” ของร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. ฉบับ “หาร 500” หรือสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อหาร 500

เป็นไปตามที่ “ก๊วนพรรคเล็ก” นำโดย นพ.ระวี มาศฉมาดล หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่, คฑาเทพ เตชะเดชเรืองกุล หัวหน้าพรรคเพื่อชาติไทย และ ปรีดา บุญเพลิง หัวหน้าพรรคครูไทยเพื่อประชาชน ยื่นเรื่องต่อ “ประธานชวน”

อย่างไรก็ดี หากในวันที่ 15 ส.ค. ซึ่งเป็นวันเดดไลน์แล้ว ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาไม่แล้วเสร็จ หรือเกิดเหตุ “สภาล่ม” อีก ก็จะส่งผลให้ต้องต้องหยิบเอาร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.ที่เสนอมาโดยรัฐบาล ซึ่งเป็น “สูตรหาร 100” ตามที่เสนอเข้ามาในชั้นรับหลักการ ดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

น่าสนใจไม่น้อยกับปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นกับเกมยื้อยุด “สูตรเลือกตั้ง” ครั้งนี้ เพราะเดิมทีร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เสนอผ่านคณะรัฐมนตรีไปสู่รัฐสภา และผ่านการรับหลักการในวาระที่ 1 จนผ่านชั้นกรรมาธิการ (กมธ.) ที่มี “หมอตี๋” สาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธาน กมธ.ฯ ก็เป็นสูตรหาร 100 มาโดยตลอด

ก่อนจะมาพลิกในระหว่างการพิจารณาวาระ 2 ในที่ประชุมรัฐสภา ที่จู่ๆ ก็มีสัญญาณจาก “บิ๊กรัฐบาล” ให้ลงมติตาม กมธ.เสียงข้างน้อยที่สงวนคำแปรญัตติเป็นสูตรการ 500 เอาไว้ ทำเอาปั่นป่วนไปทั้งรัฐสภา เพราะการแก้ไขกลางอากาศดังกล่าว กระทบเนื้อหาของร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.ในมาตราอื่นๆ ทำให้ต้องมีการพักประชุม เพื่อให้ กมธ.นำกลับไปแก้ไขให้สอดคล้องกัน ก่อนจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาอีกครั้ง

ท่ามกลางกระแสข่าวว่า มี “ใบสั่ง” ออกมาจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรียกรัฐมนตรีที่เป็นแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมดไปหารือถึงการใช้สูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อว่าควรจะใช้สูตรหาร 100 หรือหาร 500 ต่อหน้า “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่สนับสนุนสูตรหาร 100 มาตั้งแต่ต้น

ซึ่งแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมดต่างเห็นตรงกับ “นายกฯตู่” ที่สนับสนุนสูตรหาร 500 จึงมีการส่งสัญญาณไปยังที่ประชุมรัฐสภา ทั้ง ส.ส.และ ส.ว.ให้มติเห็นด้วยกับสูตรหาร 500


ด้วยเหตุผลสำคัญในการสกัดแผน “แลนด์สไลด์” ของพรรคเพื่อไทย ที่ว่ากันว่าจะได้เปรียบจากกติกาบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ และสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อหาร 100 และสูตรการ 500 จะเอื้อประโยชน์กับกลุ่มพรรคเล็ก และพรรคขนาดกลางที่เป็นพันธมิตรของรัฐบาลในขณะนี้มากกว่า

ก่อนที่ที่ประชุมรัฐสภาจะมีมติเสียงข้างมากเลือกใช้สูตรหาร 500 ด้วยเสียง 392 ต่อ 160 เสียง ท่ามกลางเสียงโวยวายลั่นทุ่งของ “ค่ายดูไบ” ที่ระบุว่า มีการล้วงลูกจากฝ่ายบริหาร จนนำไปเป็นประเด็นหนึ่งในการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี

แต่ปรากฎว่า ช่วงศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีรายบุคคล ก่อนจะถึงการพิจารณาร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.อีกครั้ง กลับมีเสียงทักของ สมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ในฐานะประธานยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ ที่ออกมาระบุว่า สูตรหารด้วย 500 น่าจะไปไม่ได้ และจะมีปัญหาตามมาทีหลัง เพราะย้อนแย้งกัน

สอดคล้องกับข้อมูลจากแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลที่ระบุว่าเมื่อลองคำนวณจำนวน ส.ส.ตามสูตรหาร 500 แบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ พบว่า “เสีย” มากกว่า “ได้” มีการยกตัวอย่าง “ค่ายเซราะกราว” พรรคภูมิใจไทย ขึ้นมาว่า อาจไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ แม้แต่คนเดียว

เรื่องนี้“เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ออกมายอมรับเองว่า “ลองไปหารเล่น ๆ ผมอาจจะไม่ได้เป็น ส.ส.เพราะมันไม่เหลือ ส.ส.บัญชีรายชื่อให้ผมเลย”

ทั้งยังสุ่มเสี่ยงที่จะเข้า “เดดล็อก” มีปัญหาในทางปฏิบัติ หากการรับรองผลการเลือกตั้งแต่ละเขตไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ ซึ่งจะส่งผลให้การคำนวณจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อไม่สามารถทำได้ หรืออาจจะเกิดความผิดพลาดจนไม่สามารถเปิดประชุมสภาฯเพื่อเลือกประธานสภาฯ หรือเปิดประชุมรัฐสภาเพื่อเลือกนายกฯได้อีกด้วย

จากรัฐธรรมนูญ 2560 ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา แก้ไปแก้มากลายเป็นคนอื่นคว้าพุงปลาไปกิน

อย่างไรก็ดีมีการมองไปอีกว่า แม้จะกลับไปสูตรหาร 100 ก็ใช้ว่าจะเป็นผลดีกับฝ่ายอำนาจ หรือกลุ่ม 3 ป. ในตอนนี้ ด้วยทั้งกระแสความนิยมที่ตกต่ำ อีกทั้งความอ่อนแอโายราของพรรคพลังประชารัฐที่เป็นพรรคหลัก ส่วนพรรคเครือข่ายก็ล้วนแล้วแต่เป็นพรรคที่ยังตั้งไข่ไม่เสร็จ

อีกทั้งยังเป็นการตัด “ก๊วนพรรคเล็ก” ที่เป็นพันธมิตรที่สำคัญของ “3 ป.” ในการพลิกเกมจัดตั้งรัฐบาลประยุทธ์ 2 ได้ ด้วยคะแนนเสียงต่อ 1 ที่นั่ง ส.ส.พึงมีระหว่างสูตรหาร 100 ที่ต้องการถึง 3.5 แสนเสียง กับสูตรหาร 500 ที่ต้องการราว 7 หมื่นเสียงต่อ 1 ที่นั่ง เหมือนการเลือกตั้งปี 2562

ว่ากันว่า มุมมองในเรื่องสูตรเลือกตั้งของ “สายลุงป้อม” กับ “สายลุงตู่” นั้นเห็นไม่ตรงกันมาโดยตลอด เดิม “ทีมลุงตู่” ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขกติกาเลือกตั้งอยู่แล้ว เพราะมองว่ากติกาเมื่อการเลือกตั้งปี 2562 นั้นเอื้อต่อ “อภินิหาร” และยังกดไม่ให้พรรคเพื่อไทยได้จำนวน ส.ส.เพิ่มขึ้นด้วย

เป็น “ทีมลุงป้อม” ที่เห็นว่า ต้องแก้ไขกติกาเลือกตั้ง เพื่อให้พรรคพลังประชารัฐ ที่ถือเป็นพรรคการเมืองใหญ่สามารถเตอบโต และได้จำนวน ส.ส.มากขึ้น แต่อย่างที่ทราบ กระแสของพรรคพลังประชารัฐตกต่ำมาอย่างต่อเนื่อง จนดูว่า ไม่ว่าสูตรเลือกตั้งไหนก็ไม่น่าจะเอื้อให้กับพรรคแกนนำรัฐบาลพรรคนี้

แต่ “ทีมลุงป้อม” ก็ยังถูลู่ถูกังให้มีการแก้ไขกติกาเลือกตั้ง โดยมี “ทีมลุงตู่” คอยสกัด จนสูตรเลือกตั้งออกลูกมั่วชุลมุน ทั้งที่กุมอำนาจในมืออย่างเบ็กเสร็จ




จนกลายเป็นขี้ปากว่า “บิ๊กป้อม” มี “ดีลลับ” กับ “เฮียโทนี ดูไบ” ทักษิณ ชินวัตร นายใหญ่แห่งค่ายเพื่อไทย ในการแก้ไขกติกาให้เข้าทาง “ค่ายดูไบ” และเสร็จศึกเลือกตั้งแล้ว ก็อาจได้เห็นรัฐบาลร่วมระหว่างพรรคพลังประชารัฐกับพรรคเพื่อไทย โดยไม่มี “ประยุทธ์” อยู่ในสมการ ตามแผน “ล้มตู่ ชูป้อม”

โดยมีร่างเงาของ “ผู้กองมนัส” ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า หัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย เป็น “ดีลเมกเกอร์” คนสำคัญ

จึงจะเห็นได้ว่า มีเพียงพรรคพลังประชารัฐ และพรรคเพื่อไทย ที่ออกตัวแรงกับเกม “สภาล่ม” เพื่อตัดจบสูตรหาร 500 ขณะที่พรรคการเมืองอื่นๆทั้งรัฐบาล-ฝ่ายค้าน ต่างไม่ร่วมออกตัว รอดูจะจะเกิดอะไรขึ้น โดยมี “ก๊วนพรรคเล็ก” โหวกเหวกโวยวายเล็กน้อย ด้วยต้องการใช้สูตรหาร 500

ความร่วมมือที่เกิดขึ้นของพรรคพลังประชารัฐ และพรรคเพื่อไทย รวมทั้ง ส.ว.บางส่วนที่รอใบสั่งจาก “บิ๊กบราเทอร์ส” ก็ทำให้รูปการณ์การประชุมรัฐสภาวันที่ 15 ส.ค.ที่จะถึงนี้ คงไม่ต่างจากวันที่ 10 ส.ค.ที่ผ่านมา

หรือหากดึงดันเอาสูตรหาร 500 ผ่านไปได้ ก็ยังมีด่านสำคัญตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ และข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ว่าเมื่อครบกำหนด 180 วัน ถือว่ารัฐสภาให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.ป.ที่ใช้เป็นหลักในการพิจารณา โดยไม่มีการกลับมาให้ที่ประชุมพิจารณาใดๆ อีก จากนั้น “ประธานรัฐสภา” มีเวลา 15 วัน ส่งร่าง พ.ร.ป.ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกความเห็น ส่วน กกต.มีเวลาทำความเห็นกลับมาภายยังรัฐสภาใน 10 วัน

ซึ่งหากสูตรการ 500 คว่ำไป และใช้ร่างของ ครม. ซึ่งก็คือร่างของ กกต.เอง ก็คงไม่มีความเห็นใดจาก กกต. แต่หากเป็นสูตรหาร 500 ส่งไป เชื่อแน่ว่า กกต.ในฐานะผู้มีอำนาจตามกฎหมาย ก็คงไม่เล่นด้วย เพราะสุ่มเสี่ยงกับการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายที่ดูจะไม่สมประกอบ

ถ้า กกต.ไม่มีข้อทักท้วง ก็ไม่ต้องนำกลับมาให้ที่ประชุมรัฐสภาอีก ขั้นตอนต่อไป คือ ต้องส่งให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ แต่ตามรัฐธรรมนูญ นายกฯ ต้องรอไว้ 5 วัน เผื่อมี “สมาชิกรัฐสภา” เข้าชื่อเพื่อร้องขอให้ประธานสภาฯ ยื่นเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ กรณีที่พบว่าบทบัญญัตินั้นตราไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ หรือมี เนื้อหาขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ

ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นสูตรหาร 100 หรือสูตรหาร 500 ก็คงต้องไปสู่ศาลรัฐธรรมนูญ ที่น่าจะเป็นผู้ชี้เป็น-ชี้ตาย เรื่องกติกาการเลือกตั้งครั้งนี้ ที่ต้องยอมรับว่า ไม่สมประกอบตั้งแต่การยื่นเสนอร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. ซึ่วฝ่ายค้านเคยดักคอไว้แล้วว่า เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ

โดยกรอบที่ศาลรัฐธรรมนุญสามารถออกความเห็นได้ บทบัญญัติของร่างกฎหมายลูก มีประเด็นปัญหาที่ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งถ้าเป็นส่วนนี้อาจจะต้องส่งกลับมาให้ “แก้ไขเล็กน้อย” แต่หากถึงขั้นมีบทบัญญัติ หรือขั้นตอนใดขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ก็เท่ากับว่าต้อง “คว่ำทั้งฉบับ”

เรียกว่าช่อง “การุณยฆาต” กติกาเลือกตั้งไม่ว่าสูตรไหน ค่อนข้างเปิดกว้างในชั้นศาลรัฐธรรมนูญ หากเรื่องไปถึง

โดยต้องดูว่า หากร่าง พ.ร.ป.กลับไปใช้ร่างของ ครม.หรือสูตรหาร 100 แล้ว “ก๊วนพรรคเล็ก” ที่ต้องการใช้สูตรหาร 500 จะสามารถล่าชื่อสมาชิกรัฐสภาให้ได้ 1 ใน 10 ของสมาชิกที่มีอยู่ของรัฐสภา หรือ 73 คน เข้าชื่อเพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่

หากมี “ปาฏิหารย์” ให้ ส.ส.-ส.ว.มาร่วมลงชื่อกับ “พรรคเล็ก” ในการยื่นเรื่องต่อศาลรับธรรมนูญ ก็ยิ่งต้องจับตาความเป็นไปของสูตรเลือกตั้ง เพราะอย่างที่บอก “ทีมลุงตู่” ก็ยังไม่ได้เห็นดีเห็นงามกับสูตรหาร 100 แต่อย่างใด ยิ่งเห็นคู่แข่งตัวฉกาจอย่างพรรคเพื่อไทยจริงจังกับการพลิกมาใช้สูตรหาร 100 ขนาดนี้ คงไม่ปล่อยให้ไปตามความฝันแผนแลนด์สไลด์ทั้งแผ่นดินง่ายๆ

หากเรื่องไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ ก็น่ารักน่าลุ้นว่า สูตรเลือกตั้งที่พลิกมาหลายตลบ อาจต้องพลิกอีกตลบ กลับไปใช้ระบบเลือกตั้ง “บัตรใบเดียว” เหมือนตอนเลือกตั้งปี 2562 ที่เคยกด “ระบอบทักษิณ” จนไปไม่เป็นมาแล้วก็เป็นได้

แม้จะมีเสียงทักว่า หากจะกลับไปปลุกผีบัตรใบเดียวได้นั้น ก็จำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญกันอีกรอบ ซึ่งตามกรอบเวลาที่เหลืออยู่ของรัฐบาลไม่น่าจะทำได้ และไม่น่าจะกล้าทำ

แต่อย่างที่บอกไว้ข้างต้น การเมืองไทยยุคนี้ อะไรที่ไม่เคยเห็นก็จะได้เห็น.



กำลังโหลดความคิดเห็น