xs
xsm
sm
md
lg

"ศักดิ์สยาม" เร่งแผนฟื้นฟู รฟท. เพิ่มประสิทธิภาพการเดินรถ-โอนทรัพย์สินให้ "เอสอาร์ทีฯ" หารายได้เพิ่ม ตั้งเป้ามีกำไรปี 70

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



รฟท.เร่งทบทวนแผนฟื้นฟู “ศักดิ์สยาม” สั่งทำ Action Plan จัดลำดับแต่ละยุทธศาสตร์ เพิ่มประสิทธิภาพการเดินรถ ดึงเอกชนร่วมลงทุน พร้อมเร่งโอนสัญญาและสิทธิในที่ดิน ส่งมอบให้ "เอสอาร์ที แอสเสท" เพื่อสร้างรายได้เพิ่ม คาดสรุปแผนใน พ.ย.นี้ ตั้งเป้าปี 70 EBITDA มากกว่า 0 ภายในปี 2570

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ประชุมติดตามผลการดำเนินการแก้ไขปัญหา/แผนฟื้นฟูกิจการของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2565 เวลา 14.00 น. ผ่านแอปพลิเคชัน Zoom ซึ่งสืบเนื่องจากการประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2565 ที่ได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมติดตามแนวทางการดำเนินการแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการของการรถไฟแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินการดังกล่าวบรรลุวัตถุประสงค์ กระทรวงคมนาคมจึงได้จัดให้มีการประชุมติดตามผลการดำเนินการแก้ไขปัญหา/แผนฟื้นฟูกิจการของการรถไฟแห่งประเทศไทย


ที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้ารายงานการดำเนินการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการการรถไฟฯ ซึ่งได้มีการจัดทำ (ร่าง) แผนวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย ปี 2566-2570 (แผนฟื้นฟู) ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าวประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ ดังนี้ 1. พัฒนาขีดความสามารถด้านการแข่งขัน (Enhance Competitive Advantage) 2. พลิกฟื้นธุรกิจหลัก (Core Business Turnaround) 3. พัฒนาและสร้างรายได้ที่ไม่เกี่ยวกับการขนส่งระบบราง (Non-core Business Enhancement) 4. ปรับรูปแบบธุรกิจสู่ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มระบบราง (Become Platform Provider) 5. ปฏิรูปองค์กรให้สอดคล้องกับการฟื้นฟู (Organizational Reform) 6. พัฒนาระบบรางด้วย BCG Model (BCG Model Incorporation)

รฟท.ได้รายงานแนวทางการแก้ไขปัญหาการดำเนินงานปัจจุบันของการรถไฟฯ โดยมีประเด็นที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ 1. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการจัดหารถจักรและล้อเลื่อน 2. การโอนสัญญาและสิทธิในที่ดินให้ บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด (SRTA) 3. การเพิ่มพันธกิจของบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด


ซึ่งมีประเด็นปัญหาด้านรายรับ ได้แก่ ส่วนของรายได้จากการโดยสาร และการขนส่งสินค้า เกิดจากการขาดความต่อเนื่องในการพัฒนารถไฟทางคู่ระยะที่ 1 ระยะที่ 2 ทางคู่สายใหม่ ซึ่งต้องเร่งรัดการก่อสร้างและแผนงานให้ชัดเจน, มีอัตราการใช้ประโยชน์หรืออัตรา Utilization ของการใช้ระบบรางต่ำ ต้องเปิดให้เอกชนร่วมเดินรถ และตั้งบริษัทลูกเดินรถ, รถจักรและ ล้อเลื่อนไม่เพียงพอไม่สมบูรณ์ เร่งเดินหน้าโครงการจัดการรถ 3 โครงการ คือ รถดีเซลราง 184 คัน รถดีเซลราง 216 คันและรถบรรทุกคอนเทนเนอร์ 965 คัน

ประเด็น รายรับจากเงินชดเชย (PSO) รฟท.ได้รับสนับสนุนน้อยกว่าที่เสนอ ซึ่งต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อปรับเกณฑ์การพิจารณา, ประเด็นรายได้จากการบริหารทรัพย์สิน มีอัตราการใช้ประโยชน์ที่ดินไม่เต็มประสิทธิภาพ และขาดการขยายรูปแบบการพัฒนาพื้นที่ ซึ่งบริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด ต้องบริหารอย่างมีประสิทธิภาพ

และประเด็นรายได้อื่นๆ ที่สำคัญ ได้แก่ ผลประกอบการที่เกิดขึ้นจากโครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง น้อยกว่าที่ประมาณการไว้ ซึ่งจะต้องเร่งพัฒนาระบบฟีดเดอร์เพื่อสนับสนุนการดินทาง และเร่งพัฒนาส่วนต่อขยายของโครงการ พร้อมกับเร่งหารายได้จาก Non-Core, ความล่าช้าในการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เร่งรัดการเจรจาเพื่อให้ได้ข้อสรุปในประเด็นผลตอบแทน


ในส่วนประเด็นปัญหาค่าใช้จ่าย พบว่าค่าใช้จ่ายในการเดินรถเกิดจากรถจักรและล้อเลื่อนไม่สมบูรณ์ จะต้องเร่งปรับขบวนรถให้มีประสิทธิภาพ และเร่งแยกระบบบัญชีต้นทุน แก้ปัญหาได้รับ PSO น้อยกว่าที่เสนอ, ค่าซ่อมบำรุงโครงสร้างพื้นฐานพบว่ายังมีปัญหาขาดประสิทธิภาพ ซึ่งแนวทางแก้ไขคือ การ Outsource/Out-Job รวมถึงการนำเทคโนโลยีเข้ามาบริหารจัดการช่วยลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงทาง, ค่าซ่อมรถจักรล้อเลื่อน แก้ไขด้วยการวางแผน Refurbish ที่เหมาะสมและจัดหารถใหม่, ค่าใช้จ่ายบุคลากร ด้าน OT สูง ต้องปรับโครงสร้างองค์กร และใช้ระบบ IT เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน


ทั้งนี้ เป้าหมายการฟื้นฟู รฟท. เพื่อให้ EBITDA มากกว่า 0 หรือไม่ติดลบภายในปี 2570 ซึ่งต้องอาศัยทั้งปัจจัยภายนอก และภายในองค์กร โดยปัจจุบัน รฟท.อยู่ระหว่างทบทวนเพื่อสรุปแผนงานที่เกี่ยวข้องให้มีความชัดเจนเป็นรูปธรรม ซึ่งคาดว่าจะสรุปแผนได้ภายในเดือน พ.ย. 2565

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กล่าวว่า ได้รับทราบผลการดำเนินการและมีข้อสั่งการให้ รฟท.ทำแผนการปฏิบัติการ (Action Plan) ให้ชัดเจนเพื่อติดตามการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยให้มุ่งเน้นในการสร้างการรับรู้แก่ประชาชน เพื่อให้ประชาชนทราบถึงแนวทางการดำเนินงานของ รฟท. และให้จัดลำดับความสำคัญในการดำเนินงานจากยุทธศาสตร์ข้างต้นที่สามารถดำเนินงานได้ทันที เช่น การจัดสรรเส้นทางการเดินรถไฟให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และดึงดูดเอกชนมาร่วมลงทุนให้ รฟท.ให้ความสำคัญในประเด็นการโอนสัญญาและสิทธิในที่ดินให้บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด ซึ่งจะเป็นส่วนช่วยให้รฟท.มีรายได้เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ เห็นควรให้ รฟท.เร่งรัดการจัดทำแผนและข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการส่งมอบทรัพย์สินให้แก่บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ให้ รฟท.ทำข้อมูลเปรียบเทียบผลที่ได้รับจากการเพิ่มรถจักรและล้อเลื่อนเพื่อให้ทราบถึงผลลัพธ์และเป้าหมายในการดำเนินงานที่ชัดเจน และทำให้การใช้โครงข่ายทางรางเกิดประโยชน์สูงสุด


กำลังโหลดความคิดเห็น