xs
xsm
sm
md
lg

สสจ.ระบุโควิด-19 เชียงใหม่แผ่วต่อเนื่อง พร้อมจ่อปรับเป็นโรคประจำถิ่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



เชียงใหม่ - ผู้ช่วยนายแพทย์ สสจ.เผยสถานการณ์โควิด-19 ของจังหวัดเชียงใหม่มีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่อง วางแนวทางมาตรการเตรียมพร้อมสู่การปรับเป็นโรคประจำถิ่น


วันนี้ (5 ก.ค. 65) นายแพทย์ กิตติพันธุ์ ฉลอม ผู้ช่วยนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวถึงสถานการณ์โควิด-19 จังหวัดเชียงใหม่ในปัจจุบันมีแนวโน้มลดลง จากรายงานสถานการณ์โควิด-19 เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2565 พบผู้ป่วยรายใหม่ 29 ราย (สะสม 34,665 ราย) ผู้เข้าข่ายติดเชื้อ 792 ราย (สะสม 329,658 ราย) ยังคงรักษาพยาบาล 2,717 ราย จำแนกตามกลุ่มอาการ สีเขียว 2,605 ราย สีเหลือง 102 ราย สีแดง 10 ราย ผู้เสียชีวิต เฉลี่ย 14 วัน 1 ราย (อัตราป่วยตาย 0.07% ) เสียชีวิตสะสม 299 ราย (เสียชีวิตจากโควิด 231 ราย และเสียชีวิตจากโรคอื่นๆ 68 ราย) ส่วนยอดการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 จังหวัดเชียงใหม่ พบว่ามียอดฉีดเข็ม 1 จำนวน 1,685,322 ราย (คิดเป็น 90.50%) และเข็ม 3 จำนวน 730,110 ราย (คิดเป็น 39.21%) จากประชาชนของจังหวัดเชียงใหม่

สำหรับการเตรียมความพร้อมเข้าสู่โรคประจำถิ่น (Endemic Approach) กระทรวงสาธารณสุขได้เสนอการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ เพื่อรองรับการเดินหน้าไปสู่โรคประจำถิ่นอย่างปลอดภัย ภายใต้แนวคิด Health for Wealth โดยจะมีการเตรียมพร้อมมาตรการทั้ง 4 ด้าน ประกอบด้วย
1. มาตรการด้านสาธารณสุข เดินหน้า Universal Vaccination จะเร่งการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ได้มากกว่า 60% ปรับระบบเฝ้าระวังเน้นการระบาดเป็นกลุ่มก้อนและผู้ป่วยปอดอักเสบ ผ่อนคลายมาตรการสำหรับผู้เดินทางจากต่างประเทศ ปรับแนวทางการแยกกักผู้ป่วยและกักกันผู้สัมผัส
2. มาตรการด้านการแพทย์ ปรับแนวทางการดูแลรักษาโควิด-19 แบบผู้ป่วยนอก เน้นดูแลผู้ป่วยที่เสี่ยงอาการรุนแรง และมีอาการรุนแรง ปรับมาตรการการดูแลรักษาผู้ป่วยทั่วไป ไม่ต้องตรวจหาเชื้อโควิด-19 ยกเว้นมีอาการหวัด สงสัยติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ รวมถึงเตรียมระบบการรักษาพยาบาลที่เหมาะสมกับอาการและระดับความรุนแรงของโรค เตียง บุคลากร สำรองยาและเวชภัณฑ์ อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลไว้อย่างเพียงพอ หากเกิดการระบาดซ้ำ
3. มาตรการด้านกฎหมาย สังคมและองค์กร โดยบริหารจัดการด้านกฎหมายเพื่อลดความสูญเสียและเพิ่มประสิทธิภาพระบบสาธารณสุข รวมถึงมีการผ่อนคลายมาตรการทางสังคม และเน้นย้ำประชาชนและสังคมยังเข้มมาตรการ 2U คือ Universal Prevention สวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง และ Universal Vaccination ฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม
4. มาตรการด้านการสื่อสาร ทุกภาคส่วนร่วมสร้างความรู้ความเข้าใจและพฤติกรรมให้ประชาชนสามารถดำเนินชีวิตร่วมกับโควิดได้ (Living with COVID) โดยสื่อสารประชาสัมพันธ์เชิงรุกเพื่อสร้างความร่วมมือของประชาชนในแต่ละช่วงเวลา

นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขยังได้กำหนดเกณฑ์การพิจารณาเป็นโรคประจำถิ่นของโควิด-19 ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งผ่านความเห็นชอบของ ศบค.เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2565 โดยมีหลักเกณฑ์และค่าเป้าหมาย เช่น ผู้ป่วยรายใหม่ไม่เกิน 10,000 ราย/วัน อัตราป่วยตาย น้อยกว่าร้อยละ 0.1 การเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล น้อยกว่าร้อยละ 10 และประชาชนมีภูมิต้านทานเพียงพอ กลุ่มเสี่ยงป่วยรุนแรงได้วัคซีนอย่างน้อย 2 โดส มากกว่าร้อยละ 80 เป็นต้น

ทั้งนี้ ผู้ช่วยนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่กล่าวเพิ่มเติมว่า คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ได้มีการออกคำสั่งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ ที่ 41/2565 มาตรการควบคุมและ
เฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเด็นการผ่อนคลายมาตรการให้สวมและถอดหน้ากาก
ตามความสมัครใจได้ โดยแนะนำให้ประชาชนยังคงป้องกันตนเองอย่างเหมาะสม โดยให้สวมหน้ากาก
เมื่ออยู่ร่วมกับผู้อื่นในสถานที่ที่มีความแออัด มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก และไม่สามารถเว้นระยะห่างได้ ส่วนในกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะกลุ่มที่หากติดเชื้อแล้วมีอาการรุนแรง ได้แก่ กลุ่ม 608 และผู้ที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ควรสวมหน้ากากอนามัยอย่างถูกวิธีตลอดเวลาเมื่อต้องอยู่ร่วมกับผู้อื่น






กำลังโหลดความคิดเห็น