xs
xsm
sm
md
lg

เซี่ยงไฮ้ลดกระหน่ำสินค้าเสื้อผ้า-แบรนด์แฟชั่นหรู เซ่นพิษโควิด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


ชายใส่หมวกใส่หน้ากากอนามัยผู้หนึ่งกำลังเดินผ่านร้านเสื้อผ้าแฟชั่นลดราคา (ภาพจาก แฟ้มภาพรอยเตอร์ Reuters)
นครเซี่ยงไฮ้ นอกจากเป็นศูนย์กลางการเงิน ยังถือเป็นศูนย์กลางแห่งแฟชั่นของประเทศจีน ต้องหยุดเคลื่อนไหวกิจกรรมทางสังคมเกือบทุกอย่างในเดือน เม.ย.และ พ.ค. เนื่องจากมาตรการล็อกดาวน์เพื่อหยุดการแพร่กระจายของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ทำให้สินค้าประเภทเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์ความงามจำนวนมากขายไม่ออก อีกทั้งยังมีสินค้าเสื้อผ้านำเข้าที่ค้างอยู่ที่โกดังท่าเรือก็กำลังทะลักเข้ามาอีกหลังจากที่เซี่ยงไฮ้ยกเลิกการล็อกดาวน์อย่างเข้มงวดเมื่อวันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา ขณะที่ผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่ายอย่างมาก

พนักงานกำลังทำความสะอาดกระจกร้านเสื้อผ้าแบรนด์เนมในห้างนครเซี่ยงไฮ้ (ภาพจาก แฟ้มภาพรอยเตอร์ Reuters)
หลังจากที่เซี่ยงไฮ้ยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์อย่างเข้มข้น ป้ายลดราคาสินค้าเสื้อผ้าและแบรนด์แฟชั่นโลกก็ผุดขึ้นทั่วนครเซี่ยงไฮ้ ที่มีประชากร 25 ล้านคน โดยผู้ค้าปลีกตั้งแต่ ลูลูเลมอน (Lululemon) ไปจนถึง วิคตอเรีย ซีเคร็ท (Victoria's Secret) ได้เสนอส่วนลดดึงดูดผู้ซื้อ OnTheList ร้านขายสินค้าแฟชั่นแบรนด์เนม เช่น เวอร์ซาเช่ (Versace), จิมมี ชู (Jimmy Choo) และลองแวง (Lanvin)เปิดร้านอีกครั้งเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ด้วยการเสนอส่วนลดมากกว่า 70% อีกทั้งยังเปิดตัวสินค้าแฟชั่นแบรนด์ดังจากซัลวาทอร์เร่ เฟอร์รากาโม (Salvatore Ferragamo)

ห้างในนครเซี่ยงไฮ้ที่คนมาเดินน้อยมาก (ภาพจาก แฟ้มภาพสำนักข่าว AP)
จีน เหลียง (Jean Liang) กรรมการผู้จัดการในจีนของ OnTheList กล่าวว่าขณะนี้แบรนด์หรูเปิดกว้างมากขึ้นสำหรับการขายออนไลน์และการขายหน้าร้าน ในขณะที่แบรนด์เครื่องสำอางกำลังมองหาวิธีการขายแบบเชิงรุกเพื่อเคลียร์สต๊อกที่ล้นโกดัง โดยขณะนี้ OnTheList ได้จัดแคมเปญ ‘แฟลชเซล’ ทุกสองถึงสามวันไปจนถึงจนถึงเดือนกันยายน

ร้านเสื้อผ้าแบรนด์เนมที่กำลังปิดในช่วงล็อกดาวน์นครเซี่ยงไฮ้ (ภาพจาก แฟ้มภาพรอยเตอร์ Reuters)
แต่ทั้งนี้ ผู้ค้าปลีกออนไลน์ยังต้องดิ้นรนแก้ปัญหาที่เป็นผลพวงจากมาตรการล็อกดาวน์ซึ่งทำให้ห่วงโซ่อุปทานชะงัก “ปกติในเดือนเม.ย. และ พ.ค. บนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซหลักๆ ของจีน เสื้อยืดถูกขายหมดในสต๊อกช่วงฤดูร้อน แต่ตอนนี้เราต้องอมเลือด สินค้าค้างสต๊อกมากมายแทบจะล้มทับตาย” จอช การ์ดเนอร์ (Josh Gardner) ผู้บริหารและหุ้นส่วนอีคอมเมิร์ซในตลาดจีนที่จัดการร้านค้าออนไลน์ให้ 10 แบรนด์แฟชั่น กล่าว

เบนนี่ หว่อง (Benny Wong) ผู้อำนวยการซัปพลายเชนของตลาดค้าส่งออนไลน์ Peeba กล่าวว่า การส่งสินค้าไปจำหน่ายในยุโรปหรืออเมริกาเป็นอีกวิธีหนึ่ง แต่ต้องเจอปัญหาต้นทุนค่าขนส่งทั้งทางเรือและทางอากาศที่พุ่งสูงขึ้น

คิวอาร์โค้ดของร้านในห้างที่ติดอยู่รอบๆ ห้างนครเซี่ยงไฮ้เพื่อโปรโมตร้านของตัวเอง (ภาพจาก แฟ้มภาพซินหัว Xinhua)
จีนเป็นตลาดหลักสำหรับบริษัทสินค้าฟุ่มเฟือยส่วนบุคคล โดยมียอดขายสูงกว่า 7 หมื่นล้านดอลลาร์ (ประมาณ 2 ล้านล้านบาท) ในปี พ.ศ.2564 นอกจากนี้ มีการประเมินว่า ยอดขายในช่วง “618” ซึ่งเป็นเทศกาลชอปปิ้งประจำปีในวันที่ 18 มิ.ย. ซึ่งปีนี้จัดตั้งแต่วันที่ 31 พ.ค. ถึง 20 มิ.ย. ยอดขายของเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซรายใหญ่ เช่น Tmall ของอาลีบาบา และ JD.com นั้นทรงๆ ตัวเมื่อเทียบปีต่อปี

ข้อมูลจาก Tmall ระบุว่ายอดขายเสื้อผ้าผู้ชายลดลง 22% และเสื้อผ้าผู้หญิงลดลง 4% ในขณะที่ยอดขายชุดออกกำลังกายเพิ่มขึ้น 26% ซึ่งอาจเป็นเพราะผู้คนให้ความสำคัญกับการออกกำลังมากขึ้นในช่วงล็อกดาวน์

ในนครเซี่ยงไฮ้ มีผู้คนจำนวนน้อยมากออกมาเดินในที่สาธารณะ (ภาพจาก แฟ้มภาพรอยเตอร์ Reuters)
หลังจากยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์เซี่ยงไฮ้ ความเชื่อมั่นในการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าปลีกของผู้บริโภคในเซี่ยงไฮ้นั้นยังคงตกต่ำ
ผู้คนในเซี่ยงไฮ้ส่วนใหญ่นั้นไม่อยากทำกิจกรรมในที่สาธารณะเพราะกลัวว่าจะต้องถูกล็อกดาวน์อีกครั้ง เนื่องจากนโยบายโควิดเป็นศูนย์ของจีนที่ยึดมั่นมาตลอด และจีนก็ใช้นโยบายนี้ทุกครั้งการติดเชื้อรายใหม่เกิดขึ้น โดย จอช การ์ดเนอร์ ผู้บริหารตลาดอีคอมเมิร์ซในจีน ได้ทิ้งท้ายไว้ว่า "ในแง่ของการระบายสินค้าคงคลังนั้นไม่มีทางออกที่ดีจริงๆ ผมหวังว่าคุณจะมีวิธีที่ดีในการแก้ปัญหาโดยไม่ทำลายแบรนด์ของคุณ”

ที่มาข่าว: ‘Everyone’s just bleeding’: unsold spring fashions in Shanghaipile up after lockdowns for Covid-19
กำลังโหลดความคิดเห็น