xs
xsm
sm
md
lg

พปชร.-ปชป.ร้าวลึก “บิ๊กตู่” วิกฤต !?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา - พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ - จุรินทร์  ลักษณวิศิษฏ์
เมืองไทย 360 องศา

เชื่อว่าหลายคนคงจับตาความสัมพันธ์ระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลสองพรรคหลัก ระหว่าง พรรคพลังประชารัฐ ที่เป็นแกนนำรัฐบาล กับพรรคประชาธิปัตย์ ที่ถือว่าเป็นพรรคหลักเช่นเดียวกัน และส่งผลต่อเสถียรภาพของทั้งรัฐบาล และตัวนายกรัฐมนตรี คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เนื่องจากเป็นรัฐบาลผสม ต้องพึ่งพาเสียงสนับสนุนในสภา


แม้ว่าที่ผ่านมาจะได้เห็นรอยร้าวและความขัดแย้งระหว่างสองพรรค คือ พรรคพลังประชารัฐ กับพรรคประชาธิปัตย์ แต่ก็ยังถือว่าต่างฝ่ายยังเก็บงำอาการเอาไว้ภายใน ยังไม่แสดงออกมาภายนอกให้เห็นชัดเจนนัก จนกระทั่งมาถึงการเลือกตั้งซ่อมที่เขต 1 จังหวัดชุมพร และ เขต 6 จังหวัดสงขลา ที่ความขัดแย้งขยายบานปลายออกไปจนยากประสานกันได้ง่ายๆแล้ว

เพราะระหว่างการหาเสียงในช่วงที่ผ่านมา ต่างฝ่ายต่างโจมตีกันอย่างรุนแรง และที่ไม่ธรรมดา ก็คือ ไม่ใช่เป็นการพูดจาพาดพิงกันในระดับพวก ส.ส. หรือสมาชิกระดับล่างๆ แต่เป็นระดับแกนนำ หรือระดับหัวหน้าพรรคกันเลยทีเดียว ถึงได้บอกว่านี่คือ อาการ “ร้าวลึก” อย่างชัดเจน

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาจาก “แบ็กกราวนด์” ระหว่างสองพรรคนี้ มันก็ย่อมเห็นถึงที่มาที่ไปได้อย่างชัดเจนว่า ทำไมความขัดแย้งถึงได้ปะทุบานปลายออกมาอย่างที่เห็นในปัจจุบัน เพราะหากย้อนกลับไปตั้งแต่การเลือกตั้งคราวที่แล้ว พวกเขาต่างแข่งขันกันอย่างเข้มข้น หรือหากย้อนไปถึงยุคที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ “ทิ้งบอมบ์” ในโค้งสุดท้ายประกาศ “ไม่เอา” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่สนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรี แม้ว่าในทางการเมืองไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเป็นการแข่งขัน และตัวเองก็เป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคอีกด้วย

แต่ขณะเดียวกัน การประกาศท่าทีแบบนั้น มันก็ทำให้พรรคประชาธิปัตย์มีส่วนสำคัญในการพ่ายแพ้ในการเลือกตั้ง ต้องสูญเสียที่นั่งในพื้นที่ภาคใต้ ที่ถือว่าเป็น “เมืองหลวง” ทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์มาช้านาน ต้องเสียเก้าอี้จำนวนมากถึง 13 ที่นั่ง ให้กับพรรคเกิดใหม่อย่างพรรคพลังประชารัฐ ที่ตอนนั้นสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ

อีกทั้งจะว่าไปแล้วในทางการเมืองทั้งสองพรรค ถือว่ามีฐานเสียงที่ “ทับซ้อน” กัน และจากปรากฏการณ์ที่เรียกได้ว่า “พ่ายแพ้” จนพรรคประชาธิปัตย์ต้องมีการเปลี่ยนแปลงหัวหน้าพรรค มาเป็น นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ในปัจจุบัน

แม้ว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงกลุ่มผู้บริหารในพรรคประชาธิปัตย์ มาเป็นนายจุรินทร์ ที่เป็นหัวหน้าพรรค และนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เป็นเลขาธิการพรรค และเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นหัวหน้าพรรค แต่อย่างที่รู้กันก็คือ ทั้ง “พื้นที่” และ “มวลชน” มันทับซ้อนกัน มันก็ทำให้สนิทเป็นเนื้อเดียวกันได้ยาก

และที่ผ่านมา ก็มักจะมี ส.ส. และสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ เคลื่อนไหวออกไปในทางตรงกันข้ามกับพรรค โดยออกมาโจมตีรัฐบาลหรือแม้แต่โจมตี “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อยู่เสมอ

จนกระทั่งมาถึงช่วงที่กำลังมีการหาเสียงเลือกตั้งซ่อมที่ สงขลา และ ชุมพร ทุกอย่างก็เลยปะทุขึ้นมาอย่างรุนแรง จนถูกมองว่าบานปลายจนยากประสานกันให้สนิทได้แล้ว เพราะนอกเหนือจากปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ช่วงเลือกตั้งคราวที่แล้ว จนมาถึงกรณีเกิด “ของแพง” ที่เกิดขึ้น “ทับซ้อน” ระหว่างการเลือกตั้งซ่อมคราวนี้พอดี มันจึงกลายเป็น “สองแรงบวก” ประดังเข้ามาพร้อมกัน


เพราะสิ่งที่ปฏิเสธความจริงไม่ได้ ก็คือ ทั้งกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ล้วนอยู่ในมือของพรรคประชาธิปัตย์ ทั้งหัวหน้าพรรค คือ นายจุรินทร์ ที่บริหารกระทรวงพาณิชย์ อย่างเบ็ดเสร็จ นายเฉลิมชัย เลขาธิการพรรค เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ที่มี “กรมปศุสัตว์” อยู่ในสังกัด และกำลังถูกโจมตีในเรื่องการจัดการกับโรคระบาดใน “หมู” และทำให้เป็นต้นเหตุสำคัญเรื่อง “หมูแพง” ในเวลานี้

กลายเป็นว่าทั้ง “การผลิต” และการ “จำหน่าย” ล้วนอยู่ภายใต้การบริหารของพรรคประชาธิปัตย์ทั้งสิ้น ซึ่งก็มี ส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐ ยกขึ้นมาโจมตีอย่างรุนแรงว่า “ไม่มีฝีมือ” ในการบริหารจัดการ รวมไปถึง “ไม่มีแอกชัน” ในการแก้ปัญหาเท่าที่ควร ทำให้แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ ไล่ไปตั้งแต่นายจุรินทร์ ลงมา “ควันออกหู” กันเลยทีเดียว และมีการตอบโต้กลับมาอย่างรุนแรง ตามสไตล์ประชาธิปัตย์ ซึ่งขึ้นชื่อในเรื่องแบบนี้อยู่แล้ว

เสียงตอบโต้มาถึงพรรคพลังประชารัฐอย่างรุนแรง มีการกล่าวหา “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค ที่ลงไปคุมเกมการเลือกตั้งซ่อมด้วยเองว่า “มีการปล้นนโยบาย” นำโครงการ “คนละครึ่ง” ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาล ไปเคลมเป็นของตัวเอง รวมถึงการโจมตีว่า “ใช้อำนาจรัฐ” และเวลาราชการไปหาเสียง ซึ่งทำให้อีกฝ่ายตอกกลับมาแรงไม่แพ้กัน

เอาเป็นว่า บางคนอาจจะมองว่าแรงเฉพาะในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งซ่อม เมื่อผลการเลือกตั้งออกมาหลังปิดหีบวันที่ 16 มกราคม ไปแล้วทุกอย่างก็จะเข้าสู่สภาพปกติ ก็หวังว่าจะเป็นแบบนั้น

แต่หากมองในมุมตรงข้าม ก็ต้องบอกว่ามันน่าจะร้าวลึกลงไปมากกว่าเดิมค่อนข้างแน่ ทางหนึ่งเป็นเรื่องของการ “ทับซ้อน” ของมวลชนในพื้นที่ และหากย้อนกลับไปตั้งแต่การเลือกตั้งซ่อม ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช แทน นายเทพไท เสนพงศ์ จากพรรคประชาธิปัตย์ ก่อนหน้านี้ ที่พรรคพลังประชารัฐ ไม่ยอมหลีกทางให้ ส่งคนลงแข่งขันและได้รับชัยชนะ ได้ ส.ส.เพิ่มขึ้นมาอีก 1 ที่นั่ง และมาถึงครั้งนี้ พลังประชารัฐ ก็ลงแข่งอีก แม้ว่าตอนแรกในเขต 1 ชุมพร จะไม่ส่งแต่ในที่สุดก็กลับลำลงสมัคร

แน่นอนว่า การเมืองคือการแข่งขัน ขึ้นอยู่กับประชาชนจะตัดสินใจ มองแบบนั้นก็ไม่ผิด ในมุมของพรรคร่วมรัฐบาล และผลได้เสียทางการเมืองในอนาคตในการเป็นรัฐบาลผสม มันจะ “คุ้มค่า” หรือไม่ และงานนี้ไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาอย่างไร มันย่อมส่งผลกระทบแน่นอน และยิ่งหากพรรคประชาธิปัตย์พ่ายแพ้ รับรองว่า “ดูไม่จืด” แน่นอน

เพราะนั่นเท่ากับการเดิมพันทั้งตำแหน่งหัวหน้าพรรค คือ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ และ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรค ที่ต้องสั่นสะเทือนเป็นสองเท่า และจะกลายเป็นแรงกระแทกเข้าใส่พรรคพลังประชารัฐ

ที่สำคัญ จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงไปถึงรัฐบาลผสม ของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อีกด้วย แม้ว่าหากมองในเฉพาะหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยังคงไม่กล้าขยับมาก เนื่องจากต้องเจอกับ “ชนัก” จากปัญหาของแพงในเวลานี้ก็ตาม ยังไม่ได้แต้มทางการเมือง แต่ในทางการเมืองอะไรมันก็เกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะ “อุบัติเหตุ” ที่มีลักษณะ “จงใจ” ให้เกิด ที่สำคัญ ทำให้ นายกฯ มีสถานะเหมือนเดินบนเส้นด้ายเลยทีเดียว !!
กำลังโหลดความคิดเห็น