xs
xsm
sm
md
lg

‘ไต้หวัน’ยิ่งเสียวไส้ ‘จีน’เดินหน้าต่อเรือบรรทุกเครื่องบินลำที่ 4 แถมเป็นเรือพลังงานนิวเคลียร์ด้วย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


เรือบรรทุกเครื่องบิน ไทป์ 002 “ซานตง” ของจีน
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

China’s nuke carrier coup de grace in Taiwan Strait
By GABRIEL HONRADA
10/01/2022

จีนเดินหน้าในเส้นทางที่จะมีเรือบรรทุกเครื่องบิน 4 ลำภายในกลางทศวรรษ 2020 นี้ โดยที่ลำใหม่ลำหนึ่งจะเป็นเรือพลังงานนิวเคลียร์

จีนอยู่ในเส้นทางที่จะมีเรือบรรทุกเครื่องบินอย่างน้อยที่สุด 4 ลำภายในช่วงกลางทศวรรษ 2020 นี้ โดยลำที่ 4 น่าจะเป็นเรือใช้พลังงานนิวเคลียร์เสียด้วย ทั้งนี้ จีนเริ่มทำงานเกี่ยวกับการต่อเรือบรรทุกเครื่องบินลำที่ 4 ในปี 2021 โดยมีรายงานว่า คณะกรรมการการทหารส่วนกลาง (Central Military Commission) ของจีน กำลังศึกษาข้อเสนอของ บรรษัทการต่อเรือภาครัฐแห่งประเทศจีน (China State Shipbuilding Corporation หรือ CSSC) ให้ต่อเรือลำนี้เป็นเรือใช้พลังงานนิวเคลียร์
(จีนจะมีเรือบรรทุกเครื่องบินอย่างน้อย 4 ลำ ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://nationalinterest.org/blog/reboot/china-still-track-build-four-carriers-year-199091)
(จีนเริ่มงานการต่อเรือบรรทุกเครื่องบินลำที่ 4 ในปี 2021 ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.scmp.com/news/china/military/article/3039653/chinese-navy-set-build-fourth-aircraft-carrier-plans-more)
(จีนกำลังศึกษาเรื่องต่อเรือบรรทุกเครื่องบินพลังงานนิวเคลียร์ ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.businessinsider.com/china-next-aircraft-carrier-likely-nuclear-powered-sources-say-2021-3)
(คณะกรรมการการทหารส่วนกลาง Central Military Commission ของจีน เป็นองค์การด้านการป้องกันประเทศระดับสูงสุดของสาธารณรัฐประชาชนจีน ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Central_Military_Commission_(China))

เมื่อเปรียบเทียบกับเรือบรรทุกเครื่องบินที่ใช้เครื่องยนต์แบบเดิมๆ แล้ว พวกเรือพลังงานนิวเคลียร์มีข้อได้เปรียบในเรื่องสามารถแล่นอยู่ในทะเลได้นานกว่ามาก, สามารถบรรทุกเชื้อเพลิงสำหรับใช้กับเครื่องบินได้มากขึ้นถึงสองเท่าตัว, บรรทุกอาวุธได้สูงขึ้น 30%, และมีพื้นที่ในเรือเพิ่มขึ้นมา 300,000 ลูกบาศก์ฟุต เนื่องจากไม่ต้องเสียพื้นที่ให้แก่พวกช่องลมเข้าและท่อไอเสีย ยิ่งกว่านั้น พลังงานนิวเคลียร์ยังเพิ่มความได้เปรียบอย่างยิ่งยวดแก่พวกระบบเครื่องมืออุปกรณ์สำคัญๆ อย่างเช่น เครื่องดีดส่งเครื่องบินสู่อากาศที่ต้องใช้กระแสไฟฟ้าสูงๆ, อาวุธ, ตัวเซนเซอร์จับสัญญาณ, และคอมพิวเตอร์ประจำเรือ
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.heritage.org/homeland-security/report/the-advantages-expanding-the-nuclear-navy)

อันที่จริง จีนมีการดำเนินงานเกี่ยวกับเทคโนโลยีหลักๆ ที่จะใช้กับเรือบรรทุกเครื่องบินพลังงานนิวเคลียร์ของตนมาระยะหนึ่งแล้ว กล่าวคือ เมื่อปี 2019 กลุ่มพลังงานนิวเคลียร์ทั่วไปแห่งประเทศจีน (China General Nuclear Power Group หรือ CGN) รัฐวิสาหกิจใหญ่ของแดนมังกร จัดการประกวดราคาทำสัญญาสร้างเรือพลังงานนิวเคลียร์ลำหนึ่ง เพื่อใช้เป็นแพลตฟอร์มทดลองสำหรับทดสอบแรงขับเคลื่อนนิวเคลียร์ที่ใช้งานในทะเล ก่อนหน้านั้นไปอีกในปี 2018 จีนประกาศแผนการต่อเรือตัดน้ำแข็งใช้พลังงานนิวเคลียร์ของตนเองขึ้นมา โดยได้รับความช่วยเหลือทางเทคนิคจากรัสเซีย
(การจัดประกวดราคาทำสัญญาสร้างเรือพลังงานนิวเคลียร์ ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.scmp.com/news/china/military/article/3002455/china-build-30000-tonne-nuclear-powered-ship-described)
(แผนการของจีนในการต่อเรือตัดน้ำแข็งใช้พลังงานนิวเคลียร์ ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.scmp.com/news/china/diplomacy-defence/article/2152785/how-china-could-move-closer-nuclear-powered-aircraft?module=hard_link&pgtype=article)

จีนยังกำลังดำเนินงานในเรื่องระบบปล่อยเครื่องบินโดยใช้แม่เหล็กไฟฟ้า (Electromagnetic Aircraft Launch Systems หรือ EMALS) ซึ่งมุ่งอาศัยการเพิ่มกระแสไฟฟ้าแรงสูง มาสร้างสนามแม่เหล็กไฟฟ้าเพื่อใช้ส่งเครื่องบินขึ้นฟ้า โดยที่มีรายงานว่า ระบบเช่นนี้สามารถใช้งานได้สะดวกง่ายดายยิ่งขึ้น, จัดการกับเครื่องบินอย่างนุ่มนวลมากขึ้น, และมีศักยภาพที่จะปล่อยเครื่องบินขึ้นสู่อากาศได้จำนวนมากขึ้นกว่าเดิมภายในระยะเวลาสั้นกว่าเดิม เมื่อเปรียบเทียบกับระบบดีดส่งเครื่องบินพลังไอน้ำแบบเดิม
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://asiatimes.com/2020/09/chinas-new-supercarrier-could-feature-emals-tech/)

แรงกระตุ้นที่จะจัดทำโครงการเรือบรรทุกเครื่องบินพลังงานนิวเคลียร์ของจีนนี้ สามารถสาวย้อนไปได้ถึงเมื่อปี 2018 ตอนที่รัฐวิสาหกิจ CSSC แถลงว่า เรือประเภทนี้เป็นทรัพย์สินที่จะช่วยให้กองทัพเรือแห่งกองทัพปลดแอกประชาชนจีน สามารถดำเนินการเปลี่ยนผ่านทางยุทธศาสตร์ และสร้างสมรรถนะเพื่อความพร้อมรบในน่านน้ำลึกและมหาสมุทรเปิดให้สำเร็จได้ภายในปี 2025
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.scmp.com/news/china/diplomacy/article/3125224/chinese-military-fourth-aircraft-carrier-likely-be-nuclear)

เรือบรรทุกเครื่องบิน ไทป์ 001 “เหลียวหนิง ของจีน
ปัจจุบัน จีนมีเรือบรรทุกเครื่องบินที่ใช้งานอยู่ 2 ลำโดยเป็นเรือใช้เครื่องยนต์ตามแบบแผนเดิมๆ ทั้งคู่ ลำหนึ่งคือ “เหลียวหนิง” ที่เป็นเรือชั้น ไทป์ 001 (Type 001) โดยเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าดัดแปลงจากเรือบรรทุกเครื่องบินชื่อ “วาร์ยัก” ซึ่งต่อขึ้นมาในช่วงเวลาที่สหภาพโซเวียตกำลังแตกสลาย ทั้งนี้ “เหลียวหนิง” ขึ้นระวางเข้าประจำการในปี 2012 ส่วนอีกลำหนึ่งคือ “ซานตง” ที่เป็น ไทป์ 002 เรือลำนี้จีนต่อขึ้นเองทั้งหมดและขึ้นระวางเข้าประจำการในปี 2017 นอกจากนั้นยังมีเรือบรรทุกเครื่องบินลำที่ 3 ซึ่งใช้เครื่องยนต์แบบเดิมเช่นกัน ถือว่าเป็น ไทป์ 003 ปัจจุบันเรือลำนี้ยังอยู่ระหว่างการต่อ และคาดกันว่าจะสามารถใช้งานได้ในปี 2024

บทวิเคราะห์ชิ้นหนึ่งของศูนย์เบลเฟอร์ วิทยาลัยรัฐกิจเคนเนดี้ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ของสหรัฐฯ ที่เผยแพร่ตอนกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เสนอมุมมองว่า กำลังด้านเรือบรรทุกเครื่องบินซึ่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ของจีน บวกกับพัฒนาการของแดนมังกรในเทคโนโลยีการทหารอย่างอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกสมรรถนะเพื่อการต่อต้านไม่ให้เข้าถึง/การปฏิเสธไม่ให้เข้าพื้นที่ (anti-access/area-denial เรียกกันย่อๆ ว่า A2/AD) กลายเป็นการเพิ่มความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯจะเป็นฝ่ายปราชัยหากทำสงครามแบบจำกัดกับจีนในสมรภูมิไต้หวัน
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.belfercenter.org/publication/great-military-rivalry-china-vs-us)

ผลก็คือ สหรัฐฯอาจถูกบังคับให้ต้องขยายการสู้รบขัดแย้งระดับจำกัดในเรื่องไต้หวัน จนบานปลายออกไปกลายเป็นสงครามระดับภูมิภาค ตามบทวิเคราะห์ชิ้นนี้ การที่จีนเข้าโจมตียึดเกาะไต้หวัน มีความเป็นไปได้มากที่สุดที่จะประสบความสำเร็จตั้งแต่ก่อนที่สหรัฐฯจะสามารถเคลื่อนย้ายทรัพย์สินต่างๆ เข้าไปในบริเวณดังกล่าว

กระทั่งหากสหรัฐฯใช้ความพยายามจนเคลื่อนย้ายกำลังของตนเข้าไปอย่างเพียงพอแก่การช่วยไต้หวัน มันก็จะยังไม่พอเพียงที่จะส่งผลกระทบกระเทือนผลลัพธ์ดังกล่าวนี้อยู่ดี นั่นก็คือ จีนเวลานี้มีสมรรถนะที่จะกระทำการในช่องแคบไต้หวันจนสำเร็จเสร็จสรรพ ก่อนที่สหรัฐฯจะตัดสินใจว่าจะดำเนินการตอบโต้อย่างไร

กองเรือบรรทุกเครื่องบินของจีนสามารถเป็นตัวเสริมพวกเครื่องบินขับไล่ที่ประจำการบนบกของแดนมังกร ในการสถาปนาฐานะความเหนือกว่าทางอากาศในน่านฟ้าเหนือช่องแคบไต้หวัน ยิ่งกว่านั้น เรือบรรทุกเครื่องบินเหล่านี้ยังสามารถส่งไปประจำการที่บริเวณนอกชายฝั่งด้านตะวันออกของเกาะไต้หวัน เปิดทางให้เข้าโจมตีกำลังป้องกันของไต้หวันซึ่งวางไว้ทางปีกตะวันออกที่ภูมิประเทศเป็นเขตภูเขา

เรือบรรทุกเครื่องบินจีนเหล่านี้สามารถที่จะปฏิบัติการได้ โดยมีเครื่องป้องกันไม่ให้ฝ่ายไต้หวันหรือฝ่ายสหรัฐฯเข้ามาโจมตี ซึ่งได้แก่ ขีปนาวุธโจมตีเรือบรรทุกเครื่องบินแบบ DF-21D, เครื่องบินขับไล่ที่ประจำการบนเรือบรรทุกเครื่องบิน, เรือรบผิวน้ำและเรือดำน้ำ

การป้องกันของไต้หวันนั้นวางอยู่บนยุทธศาสตร์การป้องกันอย่างอสมมาตรแบบตัวเม่น (porcupine strategy of asymmetric defense) ซึ่งมุ่งทำให้การสู้รบที่อาจเกิดขึ้นมายืดเยื้อยาวนานออกไปจนกว่ากองทหารสหรัฐฯจะเข้ามาแทรกแซง ด้วยเหตุนี้ การป้องกันของไต้หวันจะพึ่งพาเต็มๆ ในพวกอาวุธอย่างขีปนาวุธต่อสู้เรือ, ขีปนาวธต่อสู้รถถัง, และระบบป้องกันภัยทางอากาศ โดยมุ่งยื้อเวลาไปเรื่อยๆ จนกว่าสหรัฐฯเข้ามาช่วย
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://warontherocks.com/2021/12/the-counter-intuitive-sensibility-of-taiwans-new-defense-strategy/)

อย่างไรก็ดี ไต้หวันไม่สามารถวาดหวังได้ว่าจะตรึงสถานการณ์เอาไว้อย่างไม่มีสิ้นสุดหากปราศจากความช่วยเหลือของสหรัฐฯ ดังนั้น ลักษณะการป้องกันของไต้หวันจึงใช้สมมุติฐานสำคัญที่ว่าสหรัฐฯจะเข้ามาแทรกแซง ทว่าเรื่องนี้อเมริกาไม่เคยอธิบายให้กระจ่างว่าจะทำเช่นนี้จริงๆ หรือไม่ สืบเนื่องจากดำเนินนโยบายที่เรียกว่า “ความคลุมเครือทางยุทธศาสตร์” ในเรื่องไต้หวัน โดยหวังผลให้เป็นการสยบจีนเอาไว้ ขณะเดียวกันก็เร่งให้ไต้หวันต้องใช้ความพยายามเพิ่มขึ้นมากในการป้องกันตนเอง

คำถามที่กำลังเผชิญหน้าไต้หวันและสหรัฐฯ ไม่ใช่เรื่องที่ว่าพวกเขาสามารถสู้รบด้วยกันได้หรือไม่ แต่เป็นเรื่องที่ว่าพวกเขาสามารถทำอะไรในแค่ไหนในภาวะที่มีข้อจำกัดในเชิงนโยบาย และจีนขยายแสนยานุภาพใหญ่โตขึ้นทุกที

และการที่จีนสามารถใช้งานเรือบรรทุกเครื่องบินลำที่ 4 ซึ่งจะเป็นเรือพลังงานนิวเคลียร์ด้วย ย่อมจะสั่นคลอนดุลอำนาจทางทหารไปในทางทำให้จีนยิ่งได้เปรียบ
กำลังโหลดความคิดเห็น