xs
xsm
sm
md
lg

In Pics: “บาร์เบโดส” หมู่เกาะทะเลแคริบเบียนยกเลิก “ควีนเอลิซาเบธ” ในฐานะประมุข เปิดตัวเป็นสาธารณรัฐครั้งแรกในรอบเกือบ 400 ปี "เจ้าชายชาร์ลส์" เสด็จร่วมพิธี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



รอยเตอร์/เอเจนซีส์ – สาธารณรัฐแห่งใหม่เกิดขึ้นหลังเที่ยงคืนที่ผ่านมา “บาร์เบโดส” หมู่เกาะกลางทะเลแคริบเบียนประกาศตัวเป็นสาธารณรัฐครั้งแรกในรอบเกือบ 400 ปีและไม่ขึ้นกับอังกฤษที่มีสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เป็นประมุขอีกต่อไป เจ้าชายชาร์ลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์ เสด็จร่วมพิธีตรัสยอมรับการค้าทาสยุคล่าอาณานิคมอังกฤษสร้างตราบาปแต่ยังคงต้องการคงสัมพันธ์อันดีระหว่าง 2 ชาติต่อไป

รอยเตอร์รายงานวันนี้(30 พ.ย)ว่า เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์ทรงเสด็จร่วมพิธีการประกาศตัวเป็น "สาธารณรัฐบาร์เบโดส" แห่งใหม่ในวันอังคาร(30)ในฐานะตัวแทนของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักรอังกฤษ ที่ต่อแต่นี้บาร์เบโดสจะไม่ต้องขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนอาณานิคมอังกฤษอีกต่อไป และจะไม่มีสมเด็จพระราชินีนาถอังกฤษในฐานะประมุขแห่งดินแดนแต่จะมีประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งทำหน้าที่เป็นผู้นำสูงสุดของประเทศถือเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 400 ปีหลังจากที่เรืออังกฤษเดินทางมาถึงดินแดนกลางทะเลแคริบเบียนแห่งนี้

หลังจากเวลาเที่ยงคืนที่ผ่านมาสาธารณรัฐแห่งเกิดขึ้นท่ามกลางเสียงเชียร์ดังลั่นของประชาชนชาวบาร์เบโดสจำนวนมากที่เข้าร่วมพิธีบนสะพานแชมเบอร์เลน( Chamberlain Bridge)ในกรุงบริดจ์ทาวน์(Bridgetown) ท่ามกลางเสียงปืนยิงสลุด 21 นัดและเพลงชาติสาธารณรัฐบาร์เบโดสเริ่มบรรเลงกลางจัตุรัสแห่งผู้กล้า(Heroes Square)ที่แน่นขนัดไปด้วยฝูงชน

เจ้าชายชาร์ลส์ทรงประทับยืนสงบนิ่งในขณะที่มีการเชิญธงประจำพระองค์ของพระมหากษัตริย์อังกฤษ(royal standard)ลงเพื่อเป็นสัญลักษณ์ให้รับรู้ถึงการเกิดใหม่ของสาธารณรัฐที่เคยเป็นหนึ่งในดินแดนอาณานิคมทาสแรกๆของอังกฤษ ซึ่งเป็นก้าวแรกที่สร้างความหวังให้กับดินแดนอื่นๆของอังกฤษที่ยังคงมีควีนเอลิซาเบธคงอยู่ในฐานะประมุขแห่งดินแดน

บีบีซี สื่ออังกฤษ รายงานเพิ่มเติมว่า ท่านผู้หญิง ซานดรา เมสัน(Dame Sandra Mason) วัย 72 ปี ได้เข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่งในฐานะประธานาธิบดีคนแรกแห่งสาธารณรัฐบาร์เบโดสเมื่อเวลาเที่ยงคืน ซึ่งบังเอิญตรงกันกับวันครบรอบการประกาศเอกราชครั้งที่ 55 ของประเทศ

โดยในพิธีนอกเหนือจากมกุฎราชกุมารแห่งสหราชอาณาจักรอังกฤษจะเสด็จร่วมเป็นสักขีพยานแล้วยังมีนักร้องชื่อดังชาวบาร์เบโดสผิวสีที่โด่งดังในสหรัฐฯ โรบิน ริฮานนา เฟนตี(Robyn Rihanna Fenty) ร่วมอยู่ด้วย

“พวกเราประชาชนชาวบาร์เบโดสต้องมอบจิตวิญญาณให้แก่สาธารรัฐบาร์เบโดสและส่วนประกอบของมัน” เมสันกล่าวและเสริมต่อว่า “พวกเราต้องสร้างอนาคตของสาธารรัฐด้วยตัวเอง พวกเราทั้งหมดและผู้ปกป้องชาติของพวกเรา(เพราะ)พวกเราประชาชนคือบาร์เบโดส”

ด้าน เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์ ทรงตรัสต่อสาธารณรัฐแห่งใหม่ว่า “การสร้างสาธารณรัฐใหม่แห่งนี้ทำให้เกิดการเริ่มต้น” และทรงเสริมว่า “จากตั้งแต่ยุคที่มืดมิดในอดีตของพวกเราและความป่าเถื่อนที่น่าสยดสยองของทาสที่สร้างตราบาปให้กับประวัติศาสตร์ของเราตลอดไป ประชาชนแห่งดินแดนหมู่เกาะแห่งนี้ก่อสร้างทางของพวกเขาเองด้วยความกล้าหาญอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน”

บีบีซีชี้ว่า มกุฎราชกุมารแห่งอังกฤษที่เป็นผู้แทนพระองค์แห่งสมเด็จพระราชินีนาถแห่งอังกฤษทรงตรัสยอมรับรู้อย่างเป็นทางการถึงความป่าเถื่อนจากฝีมือของอังกฤษในยุคล่าอาณานิคมที่เกิดขึ้นต่อดินแดนแห่งนี้ อย่างไรก็ตามพระองค์ทรงตั้งความหวังว่าดินแดนทั้งสองยังคงสัมพันธไมตรีในฐานะระดับรัฐต่อไปในอนาคตข้างหน้า และพระองค์ทรงชี้ว่าพระองค์ถือเป็น “เพื่อนแห่งบาร์เบโดส” ก่อนที่จะได้รับการถวายเครื่องอิสริยาภรณ์อิสรภาพ(Order of Freedom Independence)อันทรงเกียรติจากประธานาธิบดีคนแรกของสาธารณรัฐบาร์เบโดส

สื่ออังกฤษชี้ว่า บาร์เบโดสมีแผนที่จะตั้งตัวเป็นสาธารณรัฐมาตั้งแต่ปีที่ผ่านมาและบาร์เบโดสที่ในเวลานี้กลายเป็นสาธารรัฐไปแล้วแต่ยังคงอยู่ร่วมกับเครือจักรภพอังกฤษต่อไปเหมือนเช่น มาเลเซีย ออสเตรเลีย แคนาดา

ทั้งนี้เมสันวัย 72 ปีเป็นผู้ว่าการดินแดนหมู่เกาะบาร์เบโดสมาตั้งแต่ปี 2018 ถูกประกาศชื่อเป็นประธานาธิบดีคนแรกแห่งสาธารณรัฐหลังได้รับการโหวตรับรองจากรัฐสภาบาร์เบโดสเมื่อเดือนที่ผ่านมา

นอกจากนี้ยังพบว่านายกรัฐมนตรี เมีย ม็อตลีย์( Mia Mottley) ได้สาบานตนแสดงความภักดีต่อบาร์เบโดสภายในพิธีที่ถูกจัดขึ้นเป็นระยะเวลาไม่กี่ชั่วโมง และหลังจากนั้น ริฮานนา นักร้องผิวสีชื่อดังถูกประกาศชื่อเป็นผู้กล้าแห่งรัฐจากประธานาธิบดีเมสัน ซึ่งในปี 2018 ริฮานนาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเอกอัครราชทูตแห่งบาร์เบโดส

บีบีซีรายงานว่า ชาวอังกฤษเข้ามายึดครองหมู่เกาะบาร์เบโดสเมื่อปี 1627 และภายใต้การควบคุมของอังกฤษพบว่าบาร์เบโดสถูกทำให้เป็นพื้นเศรษฐกิจน้ำตาลที่สำคัญที่มีการใช้แรงงานทาสที่นำมาจากทวีปแอฟริกา

ทั้งนี้มีการเลิกทาสเกิดขึ้นที่บาร์เบโดสเมื่อปี 1834 และดินแดนแห่งนี้มีเอกราชโดยสมบูรณ์ในปี 1966 และก่อนหน้าบาร์เบโดสทำการยกเลิกให้สมเด็จพระราชินีนาถอังกฤษในฐานะประมุขแห่งดินแดนพบว่าสาธารณรัฐมอริเชียส(Mauritius)ได้ทำการประกาศยกเลิกเมื่อปี 1992

บาร์เบโดสปัจจุบันมีประชากรทั้งหมด 285,000 คนถือเป็นหนึ่งในหมู่เกาะทะเลแคริบเบียนที่มีประชากรอาศัยอย่างหนาแน่นมากที่สุด ซึ่งครั้งหนึ่งบาร์เบโดสเคยพึ่งพาการส่งออกน้ำตาลเป็นหลัก แต่เศรษฐกิจของบาร์เบโดสในเวลาต่อมาได้หันเหไปพึ่งพาแหล่งรายได้อื่นๆทว่าหลังวิกฤติโควิด-19เกิดขึ้นทั่วโลกสร้างความเสียหายต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของบาร์เบโดสและการปรับตัวราคาสินค้าที่สูงขึ้นเกิดมาจากปัญหาซัพพลายเชนส์ที่ติดขัด

























กำลังโหลดความคิดเห็น