xs
xsm
sm
md
lg

Google ขู่ระงับบริการใน ‘ออสเตรเลีย’ หากถูกกม.บังคับให้จ่ายค่าลิขสิทธิ์ข่าว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



กูเกิล อิงค์ ผู้ให้บริการเว็บไซต์สืบค้นข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต ขู่จะระงับบริการในออสเตรเลีย หลังรัฐบาลเตรียมออกกฎหมายบังคับให้บริษัทเทคอย่างกูเกิลและ เฟซบุ๊ก อิงค์ ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้แก่สำนักข่าวต่างๆ กรณีนำข่าวไปเผยแพร่ลงบนแพลตฟอร์ม

ข้อพิพาทระหว่างกูเกิลกับผู้ผลิตคอนเทนต์ข่าวอย่าง นิวส คอร์ป กำลังเป็นประเด็นที่ทั่วโลกจับตามอง โดยกูเกิลออกมาขู่ว่าผู้ใช้งาน 19 ล้านคนในออสเตรเลียอาจเผชิญปัญหาด้านการสืบค้นข้อมูล รวมถึงใช้งาน YouTube ได้อย่างจำกัด หากกฎหมายฉบับใหม่นี้มีผลบังคับ

รัฐบาลออสเตรเลียเตรียมออกกฎหมายให้บริษัทเทครายใหญ่ต้องแบ่งรายได้ให้กับบริษัทสื่อท้องถิ่นกรณีนำเนื้อหาข่าวไปใช้ ไม่ว่าจะโดยการสืบค้นข้อมูลหรือทางนิวส์ฟีดก็ตาม และหากตกลงกันไม่ได้ รัฐบาลก็จะแต่งตั้งผู้เจรจาไกล่เกลี่ยเพื่อกำหนดราคาเอง

“เนื่องจากความเสี่ยงทั้งในด้านรายได้และการปฏิบัติการ... หากกฎหมายเวอร์ชั่นนี้ถูกนำมาบังคับใช้ กูเกิลก็ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากต้องระงับบริการ Google Search ในออสเตรเลีย” เมล ซิลวา ผู้อำนวยการกูเกิลประจำออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ แจ้งต่อคณะกรรมการวุฒิสภาในกรุงแคนเบอร์รา โดยไม่ได้เอ่ยพาดพิงถึง YouTube ตามที่ปรากฏในเอกสารฉบับร่าง

คำขู่จากกูเกิลเรียกเสียงประณามตอบโต้ทันควันจากนายกรัฐมนตรี สก็อตต์ มอร์ริสัน ซึ่งย้ำว่าออสเตรเลียมีอำนาจที่ออกกฎเกณฑ์ว่า “สิ่งใดบ้างที่คุณสามารถทำได้” ในประเทศนี้

กูเกิล วิจารณ์ร่างกฎหมายของออสเตรเลียว่ามีเนื้อหากว้างเกินไป และหากไม่ปรับแก้เสียใหม่ก็จะก่อความเสี่ยงแก่ผู้ให้บริการสืบค้นข้อมูล

สหรัฐฯ เรียกร้องในสัปดาห์นี้ให้ออสเตรเลียระงับแผนการออกกฎหมายดังกล่าว และขอให้หันไปใช้หลักปฏิบัติที่เน้นความสมัครใจ (voluntary code) แทน

กฎหมายนี้ถูกเสนอขึ้นมาเมื่อปีที่แล้ว เพื่อบีบให้กูเกิลและเฟซบุ๊กต้องแบ่งรายได้ให้กับบริษัทสื่อท้องถิ่นที่ถูกนำเนื้อหาข่าวไปใช้ ไม่เช่นนั้นก็จะโดนปรับเป็นเงินหลายล้านดอลลาร์ ซึ่งถือเป็นมาตรการบังคับขั้นรุนแรงต่อบริษัทเทครายใหญ่จากสหรัฐฯ ที่เวลานี้มีอิทธิพลครอบงำอุตสาหกรรมสื่อเป็นอย่างมาก และเป็นสถานการณ์ที่ออสเตรเลียมองว่าจะบั่นทอนกลไกที่ดีของระบอบประชาธิปไตย

ภายใต้กฎหมายดังกล่าว กูเกิลและเฟซบุ๊กจะต้องจ่ายเงินค่าลิขสิทธิ์ให้แก่สื่อแดนจิงโจ้ เช่น นิวส์คอร์ป ของ รูเพิร์ต เมอร์ด็อก รวมถึงสถานีโทรทัศน์ ABC และ SBS หากจะนำเนื้อหาข่าวไปลงในผลการสืบค้นหรือนิวส์ฟีด

กฎหมายนี้ยังกำหนดให้เจ้าของแพลตฟอร์มทั้งสองต้องแจ้งต่อบริษัทสื่ออย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนจะทำการเปลี่ยนแปลงอัลกอริทึม ซึ่งจะมีผลต่อการแพร่กระจายเนื้อหาข่าว และยังมีบทลงโทษในกรณีที่บริษัทเทคเหล่านี้ “บล็อก” ปิดกั้นเนื้อหาเพื่อหลีกเลี่ยงการจ่ายเงิน

ที่มา: รอยเตอร์, เอเอฟพี
กำลังโหลดความคิดเห็น