xs
xsm
sm
md
lg

เคล็ดลับทำธุรกิจยุคใหม่ ต้องมี ABCDEF

เผยแพร่:



หากพูดถึงการทำธุรกิจในยุคปัจจุบัน หรือการทำธุรกิจในยุคดิจิทัล มีหลายๆ สิ่ง หลายๆ อย่างที่ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องเรียนรู้ ต้องคำนึงถึง และจำเป็นต้องมี เพราะหากไม่มี หรือไม่มีการนำมาใช้ก็จะส่งผลกระทบต่อการทำธุรกิจ และทำให้ธุรกิจไม่สามารถปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจการค้าโลกยุคใหม่ได้ ซึ่งในที่สุดจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของธุรกิจ และทำให้ธุรกิจเสียโอกาส เมื่อเทียบกับคู่แข่งที่สามารถปรับตัวได้

การทำธุรกิจในยุคดิจิทัล มีเทคโนโลยียุคใหม่ที่สำคัญที่ต้องเรียนรู้และนำมาใช้ ก็คือ ABCDEF ซึ่งได้แก่ A-AI หรือเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ B-Blockchain หรือระบบกระจายฐานข้อมูล C-Cloud หรือระบบคลาวด์ D-Data หรือข้อมูล E - E-Business หรือธุรกิจดิจิทัล และ F-PlatForm หรือแพลตฟอร์ม

ทำไมธุรกิจต้องใช้เทคโนโลยี ABCDEF
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า การทำธุรกิจในยุคปัจจุบันนี้เทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทในการทำธุรกิจเป็นอย่างมาก ยิ่งในยุคดิจิทัล ยิ่งมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำธุรกิจ หากธุรกิจไม่ปรับตัว หรือปรับตัวได้ช้า ก็จะทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันลดลง โดย สนค.ได้ทำการศึกษาแนวโน้มการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำธุรกิจ ในยุคเศรษฐกิจใหม่ พบว่าเทคโนโลยี ABCDEF มีความจำเป็นที่ธุรกิจจะต้องมี หรือต้องเรียนรู้ และนำมาใช้ในการทำธุรกิจเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน


A - ปัญญาประดิษฐ์ ใช้ลดต้นทุนทำธุรกิจ
สำหรับเทคโนโลยีตัวแรก คือ A ย่อมาจาก Artificial Intelligence - AI หรือปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งเป็นโปรแกรมที่เขียนขึ้นเพื่อให้คอมพิวเตอร์สามารถทำความเข้าใจ เรียนรู้ วิเคราะห์ และประมวลผลต่างๆ อย่างอัตโนมัติ จึงกล่าวได้ว่า AI ถือกำเนิดขึ้นเมื่อคอมพิวเตอร์มีความสามารถที่จะเรียนรู้ (Machine Learning) ซึ่ง AI แบ่งออกเป็นหลายระดับตามความสามารถหรือความฉลาดเมื่อเปรียบเทียบกับมนุษย์ โดยผู้เชี่ยวชาญได้อธิบายว่า AI มีรูปแบบการทำงาน 5 ลักษณะ ได้แก่ 1. การวิเคราะห์และอธิบายเบื้องต้น (Describe) 2. การพยากรณ์ (Predict) 3. การทำงานอัตโนมัติ (Automate) 4. การจัดประเภท (Classify) และ 5. การให้คำแนะนำ (Prescribe)

น.ส.พิมพ์ชนกยกตัวอย่างให้เห็นว่า ปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยี AI มาใช้งานในภาคธุรกิจ โดยนำ AI มาใช้เพื่อลดการทำงานบางส่วน เช่น Chatbot ในการตอบคำถามลูกค้า การบริหารความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทกับลูกค้า โดยไม่ต้องใช้คนมาตอบ เพราะคำตอบได้ถูกโปรแกรมเอาไว้ล่วงหน้า ทำให้ลดความผิดพลาด และยังมีการนำ AI มาช่วยเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลพฤติกรรมลูกค้าให้รวดเร็วและแม่นยำขึ้น รวมทั้งวิเคราะห์แนวโน้มการตลาดและการลงทุน เพื่อให้ธุรกิจนำกลับมาใช้วางแผนการทำธุรกิจให้ตรงความต้องการที่เกิดขึ้น

B - Blockchain ช่วยรู้ที่มาที่ไป
Blockchain เป็นระบบการกระจายฐานข้อมูล (Distributed Ledgers) ที่ช่วยสร้างความเชื่อมั่นและป้องกันการปลอมแปลงข้อมูล รวมทั้งการมีสัญญาอัจฉริยะ (Smart Contracts) ช่วยให้ดำเนินการตามสัญญาอย่างอัตโนมัติ ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการหลอกลวง ป้องกันหรือแก้ไขปัญหาข้อพิพาทระหว่างกันได้มากขึ้น เพิ่มความรวดเร็วในการดำเนินการ โดยข้อมูลที่จัดเก็บแบบกระจายทำให้ยากต่อการเปลี่ยนแปลงหรือบิดเบือนข้อมูล สามารถตรวจสอบที่มาหรือติดตามข้อมูลการทำธุรกรรมได้ตลอดตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง

ตัวอย่างการนำ Blockchain มาใช้งาน พบว่ามีใช้มากในภาคธุรกิจ ภาคการเงิน การธนาคาร โดยเป็นกลุ่มที่มีการเริ่มต้นใช้เทคโนโลยีนี้มากที่สุด ยกตัวอย่างเช่น Thailand Blockchain Community Initiative (BCI) ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มจัดตั้งบริษัทระหว่างธนาคารพาณิชย์ 22 แห่งของไทย ในการให้บริการหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์บนระบบบล็อกเชน และปัจจุบันเทคโนโลยีบล็อกเชนยังถูกนำไปใช้ในธุรกิจหลากหลายประเภท เช่น ธุรกิจเพลงออนไลน์ และการ traceability สินค้าใน Supply Chain เป็นต้น

ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ ได้มีการผลักดันให้มีการนำระบบบล็อกเชนมาใช้ในการตรวจสอบย้อนกลับ นำร่องที่สินค้าข้าวอินทรีย์ โดยปัจจุบันมีกลุ่มเกษตรกรและผู้ประกอบการเข้ามาใช้ระบบแล้วจำนวน 7 ราย ได้แก่ เนเจอร์ฟู้ด จ.สุรินทร์, บ้านสวนข้าวขวัญ จ.สุพรรณบุรี, กรีนลิฟวิ่ง จ.นครปฐม, ซองเดอร์ จ.สุพรรณบุรี, กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรยั่งยืนบ้านน้ำอ้อม จ.ยโสธร, ไร่ทองออร์แกนิกส์ฟาร์ม จ.ศรีสะเกษ และกลุ่มวิสาหกิจศูนย์ข้าวชุมชนบ้านมะยาง จ.ศรีสะเกษ

น.ส.พิมพ์ชนกบอกว่า ผลการทดลองใช้ ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากทุกภาคส่วน ทั้งตัวเกษตรกร ผู้ประกอบการ ผู้ส่งออกข้าวอินทรีย์ และผู้ตรวจรับรองมาตรฐานอินทรีย์ ที่เห็นตรงกันว่าการนำบล็อกเชนมาใช้ทำให้ไทยเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงรายแรกๆ ของโลกที่นำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ในการตรวจสอบย้อนกลับ และยังช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับข้าวอินทรีย์ของไทยเหนือคู่แข่ง ส่วนผู้ซื้อ ผู้บริโภคก็มีความมั่นใจ และรู้ว่าสินค้าที่ตัวเองซื้อมีที่มาที่ไปอย่างไร ใครปลูก ใครผลิต ใครรับรอง ซึ่งนี่คือหนึ่งในตัวอย่างที่มีการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้

C - Cloud ระบบที่ธุรกิจต้องมี
ระบบคลาวด์ หรือการให้การบริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยผู้ใช้งานสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้งานได้อย่างอิสระ มีความยืดหยุ่นสูง และคิดค่าใช้บริการตามการใช้งานจริง สามารถใช้งาน Cloud ผ่านอินเทอร์เน็ต ทั้งด้านระบบเครือข่าย ด้านการจัดเก็บข้อมูล ด้านการติดตั้งฐานข้อมูล หรือการใช้งานซอฟต์แวร์เฉพาะด้านในธุรกิจต่างๆ เป็นต้น โดยที่ผู้ใช้บริการไม่จำเป็นต้องติดตั้งระบบทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ไว้ที่สำนักงานของตน และ Cloud ยังเป็นการบริการที่สามารถใช้งานได้โดยไม่จำกัดสถานที่ เวลา มีความยืดหยุ่น สามารถปรับเปลี่ยนการใช้งานตามความเหมาะสมได้อย่างรวดเร็ว และประหยัดค่าใช้จ่าย

ตัวอย่างการใช้งานในภาคธุรกิจ หลายองค์กรใช้ Cloud ในการเก็บรักษาและสำรองข้อมูล (Backup) ซึ่งสามารถกำหนดการเก็บข้อมูลแบบ Long-term Retention Period ได้สะดวก และมีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าการใช้งานแบบดั้งเดิมบน Server ของหน่วยงาน และการพัฒนา Application ในปัจจุบันมักใช้ Cloud เนื่องจากมีเครื่องมือในการพัฒนาครบถ้วน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งระบบที่ธุรกิจสมัยใหม่ต้องมี

D - Data นำข้อมูลมาวิเคราะห์ใช้ประโยชน์
ข้อมูล คือ ข้อเท็จจริงต่างๆ ที่ยังไม่ผ่านการประมวลผล ทั้งข้อมูลเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ ซึ่งอาจอยู่ในรูปของตัวเลข ตัวหนังสือ รูปภาพ เสียง ภาพเคลื่อนไหว โดยผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Scientist) ให้ความหมายว่า ข้อมูลคือทุกอย่างที่สามารถแปลงเป็นดิจิทัลได้ ซึ่งสามารถต่อยอดประมวลผลด้วยการใช้แนวคิด Data Science คือ การรวมศาสตร์ต่างๆ มาวิเคราะห์ข้อมูล หรือใช้เทคโนโลยี AI ช่วยวิเคราะห์และประมวลผล ทั้งนี้ จะเป็นข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) หรือข้อมูลขนาดเล็กไม่เป็นไร ขอให้เป็นข้อมูลที่มีคุณภาพ (Quality Data) ได้แก่ ถูกต้อง แม่นยำ ทันสมัย หลากมิติข้อมูล เช่น ปริมาณ เวลา สถานที่ รวมทั้งสามารถตรวจสอบได้

ตัวอย่างการใช้งานในภาคธุรกิจ บริษัทชั้นนำของโลก ทั้ง Facebook, YouTube, Google, Netflix รวมไปถึง Starbucks ใช้ประโยชน์จากการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งานได้มากที่สุด ยกตัวอย่างเช่น Netflix ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วจากการเก็บข้อมูลผู้ชมทั้งในด้านประวัติการเข้าชม การกดหยุดเล่น อุปกรณ์ที่ใช้ การค้นหา การให้คะแนน แล้วนำมาทำเป็น Big Data ที่วิเคราะห์จากการเลือกดูหนังที่ผ่านมาว่าผู้ชมน่าจะอยากดูเรื่องใดเป็นเรื่องต่อไป ทำให้ปัจจุบัน Netflix มีสมาชิกทั่วทุกมุมโลก

ทั้งนี้ ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ได้มีการผลักดันให้นำข้อมูลมาวิเคราะห์เป็น Big Data แล้วให้ประชาชน ผู้ประกอบการนำไปใช้ประโยชน์บ้างแล้ว เช่น ข้อมูลเชิงลึกในการทำธุรกิจ ที่สามารถดูแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจ โอกาสในการทำธุรกิจ เพื่อนำมาใช้ในการวางแผนทำธุรกิจ ข้อมูลการค้า ทั้งรายประเทศและรายสินค้า ข้อมูลสินค้าเกษตรพื้นฐาน เช่น ข้าว ปาล์มน้ำมัน ยางพารา มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และทุเรียน ที่ทำให้รู้ข้อมูลพื้นฐานสินค้าเกษตรตัวนั้นๆ ทั้งด้านการผลิต ราคา การนำเข้า ส่งออก เพื่อให้ผู้บริหารสามารถกำหนดนโยบายที่ทันต่อเหตุการณ์และคาดการณ์ได้ และยังจะพัฒนาระบบข้อมูลจังหวัดและฐานราก โดยเชื่อมโยงข้อมูลจากพาณิชย์จังหวัดและหน่วยงานอื่นในระดับจังหวัด เช่น เกษตร อุตสาหกรรม สภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรมรายจังหวัด เพื่อให้สามารถวิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจและการค้าในระดับจังหวัดและระดับภูมิภาค วิเคราะห์ศักยภาพธุรกิจรายจังหวัด และยังได้มีการทำข้อมูล Big Data เป็นรายธุรกิจ ซึ่งล่าสุดได้เปิดตัวข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจโลจิสติกส์แบบครบวงจรไปแล้ว

E - E-Business ยุคนี้ต้องออนไลน์
ปัจจุบันโลกได้เข้าสู่การทำธุรกิจยุคดิจิทัล หรือการดำเนินธุรกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลและอินเทอร์เน็ต เช่น การค้าออนไลน์ (E-Commerce) ธุรกิจบริการออนไลน์ (E-Service) ธุรกิจดิจิทัลคอนเทนต์ (Digital Content) ซึ่งกำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในการทำธุรกิจเป็นอย่างมาก หลายๆ ธุรกิจได้ปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัล มีการปรับรูปแบบการทำธุรกิจจากแบบออฟไลน์เป็นออนไลน์ หรือการทำธุรกิจแบบผสมผสาน ทั้งออฟไลน์และออนไลน์

ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ ตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้มีการปรับตัวเข้าสู่ยุคออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบ ทั้งการจัดอบรมสัมมนาผ่านทางออนไลน์ จัดเจรจาจับคู่ธุรกิจออนไลน์ จัดงานแสดงสินค้าออนไลน์ จัดเจรจาการค้าระหว่างประเทศผ่านทางออนไลน์ และยังได้ส่งเสริมผลักดันให้เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการท้องถิ่น ใช้ช่องทางออนไลน์ในการจำหน่ายสินค้า รวมทั้งผลักดันให้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ เช่น กลุ่มนักศึกษา ใช้ช่องทางออนไลน์ในการค้าขาย เพราะเป็นช่องทางที่มีการเติบโต ขยายตัวอย่างรวดเร็ว และเหมาะสำหรับผู้ที่มีทุนน้อย สามารถใช้เป็นช่องทางในการจำหน่ายสินค้าและบริการได้ และจากนี้ก็จะเดินหน้าผลักดันให้เกษตรกร ผู้ประกอบการนำช่องทางออนไลน์มาใช้ประโยชน์ในทุกช่องทางต่อไป

F - platForm อีกสิ่งที่ธุรกิจต้องมี
ปัจจุบันมีการพัฒนารูปแบบธุรกิจที่ใช้ Digital Platform ในการดำเนินธุรกิจเกิดขึ้น เพื่อรองรับ E-Business รูปแบบต่างๆ มากมาย โดยสามารถแบ่งประเภทของ Platform ออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่

1. Innovation Platform ที่เปิดโอกาสให้บริษัทหรือบุคคลอื่นได้พัฒนาสินค้าหรือบริการใหม่ๆ แล้วนำมาวางไว้ใน Platform ของตนเอง ทำให้เกิดเป็นนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ต่อยอดกันไปเรื่อยๆ เช่น Apple iOS หรือ Google Android

2. Transaction Platform เป็นลักษณะคล้ายๆ ตลาด ที่เปิดโอกาสให้ผู้ซื้อและผู้ขายมาเจอกันและเกิดการซื้อขายสินค้าหรือบริการขึ้น Platform ในลักษณะนี้เป็นตัวกระตุ้นที่นำไปสู่ Sharing Economy ในหลายๆ อุตสาหกรรม เช่น Uber, Grab, Airbnb เป็นเสมือนตลาดกลางที่ช่วยให้ผู้ซื้อหรือผู้ขายได้มีโอกาสเจอและจับคู่กันมากขึ้น

3. Integration Platform เป็นพวกบริษัทใหญ่ๆ ที่มีทั้งแบบ Innovation และ Transaction platform รวมกัน เช่น Apple กับ Google เน้นนวัตกรรม แต่ขณะเดียวกันก็เป็นตลาดกลางให้ผู้ซื้อผู้ขายมาเจอกัน

4. Investment platform เป็นพวกบริษัทหรือนักลงทุนที่เน้นการเข้าไปลงทุนในบริษัทที่ใช้ Platform หลายๆ บริษัท เช่น Priceline Group ที่เน้นเรื่องการท่องเที่ยวและเดินทางก็เข้าไปลงทุนทั้งใน Priceline , Kayak , Open Table เป็นต้น

ในส่วนของ Platform พบว่า ธุรกิจของไทย ยังมีน้อยรายที่สามารถพัฒนา Platform เป็นของตัวเอง แต่ก็เริ่มมีแนวโน้มเกิดเพิ่มขึ้น และมีหลายๆ รายที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งธุรกิจไทยที่ยังไม่สามารถพัฒนา Platform ของตัวเองได้ก็ต้องศึกษาและเรียนรู้ที่จะใช้ประโยชน์จาก Platform ที่มีอยู่ เพื่อเพิ่มโอกาสในการทำธุรกิจ

สรุปได้ว่า ABCDEF คือสิ่งที่ธุรกิจยุคใหม่จะต้องเรียนรู้ และปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยียุคดิจิทัล เพราะหากปรับตัวได้ก็จะทำให้มีโอกาสเติบโต และอยู่รอดในยุคที่การแข่งขันรุนแรง เพราะหากช้า หรือปรับตัวไม่ทัน โอกาสที่จะถูกกลืนกิน หรือล้มหายตายจากก็มีอยู่สูง

ท่องไว้ ABCDEF ธุรกิจยุคใหม่ ต้องเรียนรู้ ต้องมี ต้องใช้
กำลังโหลดความคิดเห็น